หุ่นยนต์ช่วยยืนทำงาน เพิ่มแรงช่วยยกของ ลดอาการเมื่อยล้า
บริษัทญี่ปุ่นอัปเดตความสามารถเก้าอี้หุ่นยนต์ช่วยในการยืนทำงาน Walkable Chair และชุดหุ่นยนต์เพิ่มแรงยกสิ่งของให้กับมนุษย์ Muscle Suit Every ในงาน CES 2022 ภายในงาน CES 2022 มีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ร่วมจัดแสดงมากมายหนึ่งในนั้นเป็นเทคโนโลยีชุดหุ่นยนต์ 2 รูปแบบ จากบริษัทเอกชนในประเทศญี่ปุ่น คือ เก้าอี้หุ่นยนต์ช่วยในการยืนทำงาน Walkable Chair และ Muscle Suit Every ชุดหุ่นยนต์เพิ่มแรงยกสิ่งของให้กับมนุษย์ โดยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทั้ง 2 รูปแบบได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพหลังจากการเปิดตัวเมื่อหลายปีก่อน เก้าอี้หุ่นยนต์ช่วยในการยืนทำงาน Walkable Chair เปิดตัวครั้งแรกในงาน CES 2021 ที่ผ่านมาแต่ในปีนี้ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การออกแบบใช้วัสดุโครงสร้างแข็งแรงน้ำหนักเบาเหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องยืนทำงานเป็นเวลานานสามารถช่วยลดอาการปวดเมื่อยล้าทำให้ผู้ใช้งานยืนได้นานมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ใช้งานก็สามารถเดินเปลี่ยนตำแหน่งการยืนได้อย่างคล่องตัว ชุดหุ่นยนต์เพิ่มแรงยกสิ่งของให้กับมนุษย์ Muscle Suit Every เปิดตัวในช่วงปี 2019 และได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพมาโดยตลอด ปัจจุบันถูกวางขายในประเทศญี่ปุ่น ชุดหุ่นยนต์ได้รับการออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากกว่าการยกโดยไม่สวมใส่ชุดหุ่นยนต์ ปัจจุบันมีหลายบริษัทพัฒนาชุดหุ่นยนต์ในลักษณะใกล้เคียงชุดหุ่นยนต์ Muscle Suit Every และถูกนำไปใช้งานโรงงาน งานกลางแจ้ง รวมไปถึงใช้งานในด้านการทหาร นอกจากการนำหุ่นยนต์มาใช้งานรูปแบบต่าง ๆ การนำชุดหุ่นยนต์มาใช้ทำงานร่วมกับมนุษย์อาจกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับลดการใช้แรงงานมนุษย์โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดในด้านของการพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติที่มีคุณสมบัติครบและสามารถเคลื่อนที่ในลักษณะเดียวกับมนุษย์ยังไม่รวมต้นทุนในการพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติที่สูงหากต้องผลิตหุ่นยนต์ออกมาจำนวนมาก ที่มา : www.smartsme.co.th
21 ก.พ. 2022
มิจฉาชีพเยอะ! Whoscall เผยสถิติโทรศัพท์หลอกลวงในไทยปี 64 มีมากกว่า 6.4 ล้านครั้ง รูปแบบ SMS เยอะสุด
จะเห็นได้ว่าในช่วงหลังมีกลุ่มมิจฉาชีพโทรศัพท์เข้ามาหลอกลวงประชาชนมากขึ้น โดยบทสนทนาจะมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การมีพัสดุติดค้าง, การเป็นหนี้บัตรเครดิต, เชิญชวนให้ลงทุน, ปล่อยเงินกู้ อย่างไรตาม คนส่วนใหญ่เริ่มรู้ทันได้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นการหลอกหลวง และอัดคลิปวิดีโอระหว่างคุยกันเผยแพร่ลงบนช่องทางออนไลน์ Whocall แอปพลิเคชันป้องกันการฉ้อโกง เปิดเผยสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับโทรศัพท์หลอกลวงว่า ในปี 2564 มีการใช้โทรศัพท์หลอกลวงในไทยมากกว่า 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 270% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในรูปแบบของข้อความ SMS ที่เพิ่มขึ้นถึง 57% ซึ่งวิธีที่พบบ่อยคือการเชิญชวนให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และดึงข้อมูลส่วนตัวไป ในเรื่องนี้คุณฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Gogolook ประเทศไทย ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whocall กล่าวว่าการส่งข้อความมีต้นทุนต่ำ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเหยื่อในอัตราสูง โดยเมื่อดูสถิติในส่วนของข้อความ SMS หลอกลวงเพิ่มสูงขึ้น 57% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งประชาชนต้องระมัดระวังเบอร์แปลกที่โทรเข้ามา รูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อยคือโทรมาอ้างว่าเป็นคอลเซนเตอร์บริการจัดส่งสินค้า และมีผู้เสียหายสูญเสียเงินรวมกันมากกว่า 100 ล้านบาท อีกทั้ง รูปแบบหนึ่งที่พบ คือการอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าวหาเหยื่อว่ามีคดีฉ้อโกง ทั้งนี้ เมื่อดูในภาพรวมก็จะพบอีกว่า ในปี 2564 ข้อความหลอกลวงทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 70% โดยลิ้งค์ฟิชชิ่งเป็นรูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อยที่สุดที่เหยื่อจะถูกล่อให้เพิ่มเพื่อนกับบัญชีปลอมบนโซเชียลมีเดีย หรือหลอกให้เข้าถึงเว็บไซต์ปลอม ที่มา : www.smartsme.co.th
20 ก.พ. 2022
สุดเจ๋ง! นักศึกษาอินเดียพัฒนา AI ช่วยแปลภาษามือ สร้างความเข้าใจอย่างรวดเร็ว
Priyanjali Gupta นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ จากรัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย ได้พัฒนาระบบ AI ที่สามารถแปลภาษามือแบบอเมริกัน (ASL) ได้แบบทันที ซึ่งจะช่วยให้คนที่มีปัญหาทางการได้ยิน สามารถสื่อสารกับคนที่ไม่เข้าใจภาษามือได้อย่างรวดเร็ว แต่ในเบื้องต้นระบบจะแปลได้เพียงคำง่าย ๆ 6 คำ และยังต้องพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้นต่อไป แม้ว่าปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น แต่ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่มีปัญหาการได้ยินจะสื่อสารกับคนปกติ โดยเฉพาะการสื่อสารแบบเห็นหน้าผ่านระบบวิดีโอคอล คู่สนทนาจะต้องเข้าใจภาษามือได้เป็นอย่างดี จึงจะเข้าใจว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการพูดว่าอะไร เครื่องมือในการแปลภาษามือแบบอเมริกัน (American Sign Language: ASL) ด้วยระบบ AI ของ Priyanjali Gupta นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จาก Vellore Institute of Technology (VIT) รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการช่วยเหลือและลดช่องว่างระหว่างคนที่มีปัญหาทางการได้ยินให้สามารถสื่อสารกับคนปกติได้ง่ายขึ้น โดยเธอได้แชร์ผลงานลงบนแพลตฟอร์หางาน ซึ่งได้รับความสนใจและคำชื่นชมเป็นจำนวนมาก การทำงานของระบบแปลภาษามือด้วย AI เริ่มต้นจากการแปลภาษามือซึ่งเป็นการทำท่าทางต่าง ๆ จากอาสาสมัครให้เป็นภาษาอังกฤษ โดยได้ใช้เทคโนโลยีการจดจำภาพ (Image Recognition) แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์การเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะแขนและนิ้ว ระบบสามารถแปลภาษามือได้ทันที แต่ในช่วงแรกของการพัฒนา จะยังแปลได้เพียงคำภาษาอังกฤษง่าย ๆ และยังไม่ได้เป็นประโยคที่ซับซ้อน เช่น “สวัสดี , ฉักรักคุณ , ขอบคุณ , ได้โปรด , ใช่ หรือ ไม่ใช่ ซึ่งเป็นคำที่คนมักใช้งานบ่อยที่สุด สำหรับชุดข้อมูลที่ใช้แปลในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ Priyanjali Gupta พัฒนาขึ้นมาเองจากเว็บแคมแบบเฟรมเดียว จึงยังไม่สามารถใช้งานกับวิดีโอได้ แต่ได้พัฒนาต่อด้วยการนำเครือข่ายประสาทเทียมแบบ LSTM (Long-Short Term Memory) มาใช้งานร่วมด้วย และมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีอื่น ๆ มาช่วยในการพัฒนา เพื่อให้การแปลภาษามือมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่มา : www.smartsme.co.th
19 ก.พ. 2022
จับตา! อีก 10 ปี “เงินหยวนดิจิทัล” มีโอกาสเทียบเท่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลก
สกุลเงินหยวนของจีนถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่าในอนาคตจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในโลกการชำระเงินที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม Richard Turrin ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน และเป็นผู้เขียนเรื่อง “Cashless: การปฏิวัติสกุลเงินดิจิทัลของจีน” ออกมาเปิดเผยว่า เงินหยวนดิจิทัลที่จีนเพิ่งเริ่มต้นพัฒนาจะก้าวขึ้นมามีบทบาทท้าทายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการชำระเงินระหว่างประเทศภายในศตวรรษหน้า “หากยังจำกันได้ จีนเป็นประเทศที่มีการค้าขนาดใหญ่ และคุณจะค่อย ๆ เห็นสกุลเงินหยวนดิจิทัลเข้ามาแทนที่ดอลลาร์ เมื่อซื้อของจากจีน” Turrin กล่าวกับรายการ “Squawk Box Asia” ของ CNBC ในอนาคต 5-10 ปี แน่นอนว่า “หยวนดิจิทัล” สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนการใช้เงินดอลลาร์ในการค้าระหว่างประเทศ โดยการขับเคลื่อนระบบทางเลือกการชำระเงินมีแนวโน้มมาจากความต้องการของประเทศต่าง ๆ ที่จะลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่เกือบ 100% ใช้สกุลเงินดังกล่าว Turrin วิเคราะห์ว่าอนาคตจะเริ่มจะเห็นการตีกลับที่หลายประเทศเริ่มบริหารความเสี่ยงลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์จาก 100% ลดลงเหลือ 80%, 85% โดยธนาคารประชาชนแห่งชาติจีนได้ดำเนินการเกี่ยวกับสกุลดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2014 ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้ยืนกรานว่าจะทำดอลลาร์ดิจิทัลหรือไม่ ขณะที่โจ ไบเดน เรียกร้องให้มีมาตรการเร่งด่วนในการวิจัย และพัฒนาเงินดอลลาร์ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อศักยภาพในการชำระเงิน “จีนล้ำหน้าเทคโนโลยีด้านการเงินไปก่อนใครราว 10 ปี ด้านสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาอีก 5 ปี ในการวางแผน และใช้สกุลเงินดิจิทัล” Turrin กล่าว อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าจับตามองคือพันธมิตรของทั้งทางฝั่งจีน และสหรัฐฯ หลังจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ทางฝั่งจีนเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และปฏิเสธโจมตีรัสเซียในฐานะผู้บุกรุกแต่อย่างใด ที่มา : www.smartsme.co.th
18 ก.พ. 2022
Glossier เริ่มต้นจากบล็อกความงาม ตอนนี้เป็นบริษัทมูลค่า 1 พันล้าน
Glossier เจ้าของแบรนด์ความงามในนิวยอร์กตอนนี้มีมูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปเรียบร้อยแล้วจากการระดมทุนรอบล่าสุด นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของสตาร์ทอัพด้านความงามที่มีจุดเริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองรัก จากนั้นค่อยๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นบริษัทพันล้าน ในปี 2010 Emily Weiss ได้เริ่มบล็อกยอดนิยมที่ชื่อว่า "Into the Gloss" โดยนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเคล็ดลับความงาม เทรนด์ของเครื่องสำอาง และเทคนิคการแต่งหน้าในรูปแบบต่างๆ จากนั้นเธอใช้มันเพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ความงามและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวภายใต้แบรนด์ Glossier ในอีก 4 ปีต่อมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายราคาไม่แพง แบรนด์ Glossier ได้ดึงดูดให้มีผู้ติดตามเกือบ 2 ล้านคน บน Instagram ทำให้ Weiss ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้หญิงเก่งที่สามารถรีดประสิทธิภาพจากการใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างเต็มที่ในการเข้าถึงลูกค้า ปี 2017 Weiss บอกว่าเธอรู้ตัวว่าเธอสามารถใช้โซเชียลมีเดียเพื่อพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง และสร้างสิ่งที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลตัวเองให้ดูดี และควรจะค้นหาข้อมูลทั้งหมดที่พวกเขาต้องการจากเพื่อนหรือจากผู้หญิงคนอื่นๆ ในโลกและออนไลน์ ร้านออฟไลน์ 2 ร้านของ Glossier นั้นเต็มไปด้วยการตกแต่งที่เป็นมิตรกับ Instagram ทั่วทั้งพื้นที่กระตุ้นให้ผู้มาเยี่ยมชมทำการถ่ายภาพและแชร์ออกไปบนโลกโซเชียลมีเดีย มันเป็นวิธีที่ชาญฉลาดมากในการทำให้ผู้บริโภคของคุณกลายเป็นผู้ทำการโฆษณาให้กับสินค้าของคุณ นอกจากนั้นการสร้างคำแนะนำแบบปากต่อปาก ยังคงทรงพลังเสมอในการทำให้คนซื้อผลิตภัณฑ์ของคุณ ที่มา : www.smartsme.co.th
17 ก.พ. 2022
AI จะเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของแพทย์ เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ
ประเทศอินเดียมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในพื้นที่ต่างๆ อย่างมากมาย ในบางพื้นที่คนได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ในบางพื้นที่ยังเข้าถึงบริการพื้นฐานด้านสุขภาพไม่ได้เลย ทำให้บรรดาสตาร์ทอัพหลายแห่งในอินเดีย ทุ่มเทให้กับการแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอินเดียมีการเติบโตของสตาร์ทอัพทางด้านสุขภาพจำนวนมาก เพราะด้วยจำนวนประชากรและความแตกต่างของการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ทำให้มีความตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาด้านาสุขภาพ และมันก็สอดคล้องกับความก้าวหน้าของ AI ที่สามารถลดปัญหาเหล่านี้ โดยการทำตัวเป็นผู้ช่วยของแพทย์ในการตัดสินใจเพื่อการรักษาในเคสต่างๆ การทดสอบการวินิจฉัยหลายอย่างที่ดำเนินการผ่านความช่วยเหลือของ AI ช่วยให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ดีขึ้น การเกิดขึ้นของ AI ทำให้การตรวจหา “มะเร็ง” ทำได้ง่ายขึ้นและคล่องตัวมากกว่าเดิม Vishwas Mudagal ซีอีโอของ Good work Labs กล่าวว่า “AI กำลังรุกเข้าไปในพื้นที่ด้านการดูแลสุขภาพ เรากำลังช่วย บริษัท ต่างๆ ในการหาวิธีตรวจหามะเร็ง สำหรับการตรวจจับมะเร็งคุณต้องใช้อัลกอริทึมที่คุณจะทำนายว่ามีใครบางคนกำลังเป็นมะเร็งหรือไม่ การดูตัวอย่างเลือดคุณสามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้ป่วยบางรายจะเป็นมะเร็งในอนาคตหรือไม่” Deep Learning จะแนะนำการวินิจฉัยโรค การดูแลสุขภาพด้วยระบบดิจิทัลจะช่วยให้สามารถเข้าถึงได้มากและง่ายขึ้น นอกจากนี้อินเดียมีความไม่เท่าเทียมกันในอัตราส่วนของแพทย์ต่อผู้ป่วย AI จะมาเป็นผู้ช่วยเพื่อลดเวลาที่แพทย์ใช้ในการรักษาแบบเดิม เพื่อทำให้สามารถเพิ่มขอบเขตของการรักษาผู้ป่วยในจำนวนที่มากขึ้นได้ ที่มา : www.smartsme.co.th
16 ก.พ. 2022
คณะทำงาน SME Startup PE VC เห็นพร้องเกณฑ์เปิดทางเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพระดมทุนในวงกว้าง
ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมระดมความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนและรองรับการระดมทุนของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเพื่อสามารถระดมทุนในวงกว้างได้ ซึ่งหลักการของร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านมติเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 และร่างหลักเกณฑ์อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็น โดยที่ประชุมคณะทำงานฯ เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ที่นำเสนอ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพระดมทุนได้รวดเร็วและในต้นทุนที่เหมาะสม ทั้งนี้ ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะกำหนดให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่เป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งมีผลการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง (proven track record) หรือมีมูลค่ากิจการระดับหนึ่งแล้ว สามารถระดมทุนจากบุคคลในวงกว้างและนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดรองได้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตจากสำนักงาน สำหรับคณะทำงาน SME Startup PE VC ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 14 แห่ง ได้แก่ ก.ล.ต. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กระทรวงพาณิชย์, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, กระทรวงอุตสาหกรรม, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน, ชมรมวาณิชธนกิจ, สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ที่มา : www.smartsme.co.th
15 ก.พ. 2022
WeWork สตาร์ทอัพชื่อดัง ยื่นฟ้อง SoftBank ข้อหาไม่ทำตามข้อตกลง ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง
เรื่องราวระหว่างนักลงทุนและสตาร์ทอัพคู่นี้ ท่าทางจะไม่จบลงง่าย ๆ ล่าสุดทาง WeWork ได้ทำการยื่นฟ้อง SoftBank ด้วยข้อกล่าวหาว่าทาง SoftBank ไม่ได้ทำตามข้อตกลงที่ว่าจะทำการซื้อหุ้นคืนตามที่ได้ตกลงกันไว้ ทำให้สภาพคล่องของ WeWork อยู่ในภาวะที่ย่ำแย่มาก การยื่นฟ้องครั้งนี้ WeWork กล่าวว่า SoftBank ไม่ยอมทำการซื้อหุ้นมูลค่ากว่า 3 พันล้านเหรียญฯ คืนตามที่ตกลงกันไว้ ส่วนทาง Softbank ก็ออกมาบอกว่า การที่ไม่สามารถทำตามข้อตกลงนั้นก็เพราะว่า มีเงื่อนไขหลายข้อที่ทาง WeWork ไม่สามารถทำได้ตามระยะเวลาที่กำหนด Adam Neumann อดีต CEO ของ WeWork ได้ทำการยื่นฟ้องกองทุน vision fund ของ Softbank ว่าไม่ยอมทำตามข้อตกลง Tender offer หรือการทำข้อตกลงในการเข้าซื้อหลักทรัพย์ของกิจการเพื่อเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนั้น ๆ และทำให้สามารถมีส่วนร่วมในการบริหารบริษัทที่เข้าซื้อได้ ซึ่งการที่ Softbank ไม่ทำตามข้อตกลงดังกล่าว ก็ทำให้ผู้ถือหุ้นของ WeWork ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งสองบริษัทเคยตกลงกันไว้ว่า Softbank จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือบริษัทมูลค่าหลายพันล้านเหรียญฯ แลกกับการที่จะให้ Softbank เข้าควบคุมบริษัท WeWork แต่การฟ้องร้องครั้งนี้ต้องมีลำดับขั้นตอนทางกฎหมาย โดยฝ่ายกฎหมายของ Softbank ได้ออกมาบอกว่าตัวข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีเรื่องการซื้อหุ้นคืน ไม่มีข้อไหนเลยที่ระบุว่า Softbank จะต้องทำตามข้อตกลงทั้งหมด ซึ่งผลการตัดสินการฟ้องร้องในครั้งนี้ต้องติดตามกันต่อไป ที่มา : www.smartsme.co.th
14 ก.พ. 2022
Metaverse Human Virtual Influencer คนแรกของไทยเตรียมรับงาน ยุคของคนดัง ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นคนเสมอไป !!!
หลังจากที่เราเห็นประเทศเกาหลีที่มีการสร้างดารา หรือ Influencer จาก VR แต่ตอนนี้ในประเทศไทยได้มีการสร้าง Metaverse Human Virtual Influencer คนแรกแล้วเช่นกัน ซึ่งทาง SIA Bangkok เอเจนซี่รายใหม่ในไทย คือ ผู้สร้าง ไอ-ไอรีน Metaverse Human Virtual Influencer คนแรกในไทย เป็นหญิงสาววัย 21 ปี ตั้งเป้าเป็นเป็นพรีเซนเตอร์ ถ่ายแบบโฆษณา มิวสิควิดีโอ รีวิวสินค้า คาแรคเตอร์ที่วางไว้คือ ชื่อจริงว่า ไอรีน (Ailynn), ชื่อเล่น ไอ (Ai), วันเกิด วันอาทิตย์ ที่ 1 ตุลาคม 2543, อายุ 21 ปี, อาชีพ Creative / Freelance / Influencer, ส่วนสูง 165 ซม., น้ำหนัก 52 กิโลกรัม, กรุ๊ปเลือด AB, ความสามารถพิเศษ ดนตรี เต้น และถ่ายภาพ เทรนด์ Virtual Influencer เริ่มมีให้ได้ยินมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ที่คนถูกจำกัดกิจกรรมการใช้ชีวิตข้างนอก แต่ Virtual Influencer สามารถสร้างเนื้อหาปลดล็อกข้อจำกัดการล็อกดาวน์ได้ ปัจจุบันมี Virtual Influencer ดังๆ หลายรายแล้ว เช่น Lil Miquela ผู้ติดตาม 1.6 ล้านราย เคยร่วมงานกับ Samsung ในแคมเปญ #teamgalaxy, Shudu ผู้ติดตามเกือบสองแสนราย เคยร่วมงานกับ Fenty Beauty แบรนด์ความงามจากนักร้องสาว Rihanna, Bermuda ผู้ติดตาม 150,000 ราย เป็นต้น และนอกจากนี้ Virtual Influencer ยังมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆเพราะสามารถกำหนดคาแร็คเตอร์ ผิวหน้า ผิวกาย ได้ตามที่ต้องการ รวมถึงอุปนิสัยลักษณะ ได้ตรงตามที่ต้องการอีกด้วย ที่มา : www.smartsme.co.th
13 ก.พ. 2022
ไม่ได้แรงแค่ลงทุน แต่ยังแรงในตลาดงาน! LinkedIn เผยตำแหน่งงานด้านคริปโตฯ เพิ่มขึ้น 395% ในปี 2021
กระแสของคริปโตเคอเรนซี่ไม่ใช่ดึงดูดเฉพาะการลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดงานที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะบริษัทต่าง ๆ เริ่มเปิดรับผู้สมัครที่มีความเชี่ยวชาญในสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น ตามรายงานการศึกษาของ LinkedIn พบว่าในปี 2021 ตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี่เพิ่มสูงเกือบ 5 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์, อีเทอเรียม, บล็อกเชน และคริปโตเคอเรนซี่ เติบโต 395% ในสหรัฐฯ และแสดงให้เห็นถึงการรับสมัครงานที่เพิ่มขึ้น 95% ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ตำแหน่งงานส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องในด้านซอฟท์แวร์ และการเงิน แต่ LinkedIn สังเกตุความต้องการเพิ่มขึ้นของผู้คนในเรื่องการบริการอย่างมืออาชีพ เช่น บัญชี, การแก้ปัญหา อีกทั้ง ยังมีตำแหน่งงานที่พบบ่อยมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น บล็อกเชน, นักพัฒนา และฮาร์ดแวร์ คอมพิวเตอร์ ในปี 2021 บริษัทส่วนใหญ่ที่เปิดรับสมัครตำแหน่งงานด้านคริปโตเคอเรนซี่จะอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก, เทกซัส, นิวยอร์ก, ไมอามี่ และเดนเวอร์ ขณะที่ในปี 2020 5 พื้นที่ที่เปิดรับสมัครงานเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี่จะอยู่ที่ซานฟรานซิสโก, นิวยอร์ก, แชเปิลฮิลล์ เมืองนอร์ทแคโรไลนา, ฟิลาเดลเฟีย และลอสแอนเจลิส ที่มา : www.smartsme.co.th
12 ก.พ. 2022