Category
Tags:
Airbnb รุกคืบเข้าสู่ธุรกิจการเช่าพื้นที่สำนักงาน
Airbnb สตาร์ทอัพผู้สร้างนิยามใหม่ของการจองที่พักในที่ต่างๆ โดยอาศัยการแบ่งปันห้องหรือพื้นที่ที่ว่างของคนทั่วโลก เริ่มขยายธุรกิจด้วยการเข้าซื้อกิจการของสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการเช้าห้องประชุมและสำนักงาน โดยสตาร์ทอัพที่ถูก Airbnb ซื้อกิจการนั้นชื่อว่า Gaest.com เป็นธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับการจองห้องทำงานและห้องประชุม ที่สามารถทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายวันหรือรายชั่วโมง การเข้าซื้อกิจการใหม่นี้ ส่งผลให้ Airbnb สามารถเข้าทำการแข่งขันในธุรกิจการเช่าสำนักงานขนาดใหญ่ได้ทันที นี่่คือการปรับเปลี่ยนก้าวที่สำคัญของ Airbnb โดยธุรกิจการเช่าห้องประชุมและพื้นที่สำนักงานนี้กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในการทำธุรกิจในปัจจุบัน บางครั้งงานอีเว้นท์เล็กๆ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่แสนแพงของโรงแรมใหญ่โตเสมอไป ห้องประชุมหรือห้องจัดสัมมนา มีอยู่เต็มไปหมดทุกแห่ง แน่นอนการปล่อยห้องว่างๆ เอาไว้เป็นการสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ นำมาแบ่งปันการใช้งานกันดีกว่า งานนี้เจ้าตลาดอย่าง Wework.com มีสะเทือน ที่มา : www.smartsme.co.th
03 ม.ค. 2022
กลุ่มธนาคาร ลงทุนสตาร์ทอัพเรื่อง AI Fintech และ Data Analytics
กรุงศรี ฟินโนเวต เดินหน้ายึดความเป็นผู้นำด้าน Corporate Fintech Accelerator โดยมุ่งเน้นไปในการพัฒนาสตาร์ทอัพด้าน AI, Data Analytics และ Fintech บริษัทตั้งเป้าหมายลงทุนตรง (Direct Investment) ในสตาร์ทอัพระดับ Series A และ Series B ที่มุ่งเน้นในเรื่องเทคโนโลยี AI และ Data Analytics เป็นหลัก ซึ่งมองหาโอกาสในการลงทุนทั้งกับสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน โดย Silot จะเป็นสตาร์ทอัพรายแรกที่กรุงศรี ฟินโนเวต ตัดสินใจลงทุนในปีนี้ โดย Silot เป็นสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ โดยผู้ก่อตั้งชาวจีน ซึ่งให้บริการด้านแพลตฟอร์มด้านการธนาคารแบบครบวงจร และมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี AI การลงทุนใน Silot จะเสริมสร้างและพัฒนาระบบชำระเงินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำ Corporate Fintech Accelerator ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องมาถึง 3 ปี โดยในปีที่ผ่านมาสามารถขยายขอบเขตการเปิดรับ ดึงดูดสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์และเวียดนามเข้าร่วมโครงการ ความร่วมมือและการลงมือปฏิบัติในสภาพแวดล้อมจริงส่งผลให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตในอัตราเร่งที่รวดเร็วกว่าเดิม เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการเป็นอย่างมาก ที่มา : www.smartsme.co.th
02 ม.ค. 2022
TED Fund จับมือ NIA และออมสิน จัดหนักสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสู้ภัยโควิดให้สตาร์ทอัพ
TED Fund จับมือ NIA และออมสิน จัดสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสู้ภัยโควิดให้ Startup ซึ่งอยู่ระหว่างรับทุน และไม่ได้รับทุน ปล่อยกู้สูงสุดรายละ 10-20 ล้านบาท ดอกเบี้ยเพียง 2% นายนิคม ปัญญาทวีกิจไพศาล ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เปิดเผยว่า ภายหลังจาก TED Fund ดำเนินการสนับสนุนทุนแก่กลุ่มธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ไปแล้วกว่า 200 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 325 ล้านบาท ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและตัวชี้วัด มากกว่า 40 โครงการ แต่ที่เหลือกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ สามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ TED Fund และ NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จึงได้ร่วมมือกับธนาคารออมสิน ประกาศนโยบายสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ ที่อยู่ระหว่างการรับทุนของ NIA และ TED Fund บรรเทาสภาวะทางการเงินเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 2 โครงการได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อนวัตกรรมสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุน ในวงเงินกู้สูงสุด 1.5 ล้านบาท และ โครงการสินเชื่อเพื่อนวัตกรรมสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุน วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดย TED Fund และ NIA จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นายอนุรักษ์ เสงี่ยมจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs Startup กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ กล่าวว่า ธนาคารได้รับมอบหมายให้สนับสนุน ธุรกิจ Startup และ SMEs Startup ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย ธนาคารจึงได้จัดตั้ง Venture Capital ขึ้นมาก่อนหน้านี้ จำนวน 4 กอง รวมมูลค่า 2,500 ล้านบาท รวมทั้ง Angle มูลค่า 500 ล้านบาท อีก 1 กอง เพื่อสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มนี้ ภายใต้โครงการ GSB Startup Ecosystem และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ส่วนกลุ่ม Startup ที่อยู่ในโครงการของ TED Fund และ NIA และ/หรือ ผู้ประกอบการที่เคยผ่านการคัดกรอง หรือได้รับการรับรองความเป็นนวัตกรรมจาก TED Fund และ NIA นั้น ธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อให้ “ทุกราย” ภายใต้วงเงินที่กำหนดไว้คือ สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท/ราย สำหรับ Stratup และไม่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับ SMEs Startup อัตราดอกเบี้ย 2% ในช่วง 2 ปีแรก และตั้งแต่ปีที่ 3 ขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยจะเป็น MOR ลอยตัว (MOR+2) “Startup และ SMEs Startup ที่จดทะเบียนตั้งบริษัทแล้ว ดำเนินธุรกิจแล้ว และมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงแล้วไม่เกิน 3 ปี ไม่ว่าจะได้รับทุนจาก TED Fund หรือ NIA หรือไม่ก็ตาม ทุกคนสามารถเดินเข้ามาคุยกับเราได้ เพราะเราพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกราย ส่วนที่มีผู้กังวลในเรื่องหนี้เสียนั้น เราได้มีการปรับเกณฑ์ของธนาคารให้อยู่ในลักษณะที่พอรับความเสี่ยงได้ ไว้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) เข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้ง TED Fund และ NIA ช่วยสกรีนผู้ประกอบการให้เรา ความเสี่ยงจึงน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และยอมรับได้ ประเด็นหลักในขณะนี้คือ เราต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ก่อนที่จะคิดอย่างอื่น” นายอนุรักษ์ กล่าวในที่สุด อ้างอิง: กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม https://www.smartsme.co.th/content/238138
02 ม.ค. 2022
Uber เตรียมเปิดเที่ยวบินราคา 200 ดอลลาร์ที่นิวยอร์ก
Uber เตรียมเปิดเที่ยวบินสำหรับคนในเมือง เริ่มต้นที่เส้นทางจาก Lower Manhattan ไปยัง Kennedy Airport แท็กซี่บินอัตโนมัติของ Uber ยังไม่พร้อมที่จะเปิดใช้งาน แต่มีรายงานจาก New York Times ว่าจะเริ่มมีการขนส่งทางอากาศตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม โดยจะเริ่มต้นให้บริการด้วย Uber Copter ซึ่งจะให้บริการในเมืองนิวยอร์กก่อน และเป็นสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก Uber Rewards ที่ได้รับสถานะ Platinum และ Diamond เท่านั้น โดยจะมีราคาค่าบริการอยู่ระหว่าง 200-225 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามบริการนี้จะแตกต่างจากบริการรถของ Uber เพราะมีการกำหนดเส้นทางเอาไว้ล่วงหน้าและตายตัว โดยเป็นเส้นทางระหว่างสถานที่ใกล้กับ Staten Island Ferry ในแมนฮัตตัน ไปยังสนามบิน Kennedy ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 8 นาที Uber ยังไม่ได้ประกาศว่าจะทำการให้บริการนี้แก่สาธารณชน ส่วนจำนวนของผู้โดยสารที่จะเดินทางไปกับ Uber Copter อยู่ที่ 5 คนต่อเที่ยว โดยมีนักบินจำนวน 2 คนประจำอยู่บนเครื่อง ที่มา : www.smartsme.co.th
01 ม.ค. 2022
Netflix เติบโตขึ้นมาด้วยวัฒนธรรมองค์กร “กล้าลองในสิ่งที่ผิดพลาด”
กว่าจะมาเป็นธุรกิจระดับโลกอย่างทุกวันนี้ Netflix ได้ผ่านการลองผิดลองถูกมาจำนวนนับไม่ถ้วน ใช้เวลาตั้งแต่ทำการเริ่มต้นทดสอบทางความคิดมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ต้องเจอกับอะไรมาบ้าง Mitch Lowe Co-founding Executive ของ Netflix จะมาเล่าให้ฟัง ย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นที่ Netflix พยายามหาหนทางแก้ไข Pain Point ของผู้บริโภค ในการทำให้การรับชมภาพยนตร์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และเชื่อว่าความบันเทิงกำลังจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ขีดจำกัดของการรับชมนั้นถูกขยายออกไปสู่อุปกรณ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบพกพา หรือแม้แต่ดูในโทรศัพท์มือถืออย่างทุกวันนี้ ผ่านการลองผิดลองถูกมานาน จนถึงวันที่ Netflix สามารถ Launched Streaming ได้เป็นครั้งแรกในปี 2008 ซึ่งหลังจากนั้น Netflix ยังคงพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรับชมอย่างต่อเนื่องแบบไม่สะดุด และสามารถเลือกรับชมตอนต่อไปได้ในทันที ถือเป็นความแตกต่างที่สร้างคุณค่าและได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมที่เข้าชมผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลายในทั่วทุกมุมโลก ปัจจุบัน Netflix มีผู้ติดตามอยู่ใน 130 ประเทศทั่วโลก กุญแจสู่ความสำเร็จของ Netflix มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน บุคลากร (People) เป็นทรัพยากรที่สำคัญ จะต้องเป็นผู้ที่ทำการหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อจะเป็นหนทางในการเพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง วัฒนธรรม (Culture) ที่จะส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ ซึ่งเกิดจากความชัดเจนในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายขององค์กร บุคลากรจะมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน ความเป็นผู้นำ (Leadership) กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ แล้วยังฝากข้อคิดเท่ๆ เอาไว้ปิดท้ายด้วยว่า "อย่ากลัวที่จะตัดสินใจผิด เพราะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในการสร้างนวัตกรรม คือการทำผิด" คนเราไม่มีทางที่จะทำอะไรผิดหมด เราจะต้องลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น องค์กร จะต้องสร้างวัฒนธรรมที่ให้คนกล้าลองทำในสิ่งที่ผิดพลาดได้ ที่มา : www.smartsme.co.th
31 ธ.ค. 2021
ครั้งแรกของการเปิดพื้นที่ Coworking สำหรับอาหาร
เราคงคุ้นเคยกับ coworking ในรูปแบบต่างๆ กันมาแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นที่ของการร่วมทำงาน ร่วมทำการศึกษา หรือเป็นพื้นที่ของบรรดาเหล่าสตาร์ทอัพทั้งหลายไปรวมตัวกัน แต่ใครจะไปคิดละว่าพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพด้านอาหารก็มีกับเขาด้วย และงานนี้ก็เป็นขาใหญ่ของวงการ coworking เข้ามาทำเองซะด้วย แหล่งรวมตัวของคนพัฒนาด้านอาหารเกิดขึ้นแล้ว งานนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน WeWork เจ้าพ่อวงการ coworking space นั่นเอง หลังจากที่ทำการยึดตลาดในกลุ่มต่างๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น WeWork พื้นที่ทำงานของคนรุ่นใหม่ WeLive พื้นที่อยู่อาศัย และ WeGrow พื้นที่ของการศึกษา ตอนนี้พร้อมสร้างสิ่งแวดล้อมสำหรับสตาร์ทอัพด้านอาหาร ด้วยการเปิดตัว WeWork Food Labs WeWork Food Labs เป็น coworking space และศูนย์นวัตกรรมการทดลองในห้องอาหาร พื้นที่ Food Labs ในนครนิวยอร์กได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำงานด้านอาหาร มีพื้นที่สำหรับการวิจัยพัฒนา ตู้เก็บอาหาร และพื้นที่จัดกิจกรรมขนาดใหญ่ นี่คือหนึ่งในพื้นที่ที่น่าสนใจที่สุดของนวัตกรรมในโลกปัจจุบันด้านอาหาร และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ซ้ำใครเพื่อสนับสนุนอาหารและการเกษตรยุคใหม่ที่เริ่มต้นขึ้น เชื่อว่าการสร้างพื้นที่นี้จะทำให้นักประดิษฐ์มีแรงบันดาลใจมากที่สุด พวกเขาสามารถสร้างชื่อเสียงให้โลกได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เราคิดค้นอนาคตของเราเอง แน่นอนว่าสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินสนับสนุนในการลงทุนด้วย ที่มา : www.smartsme.co.th
30 ธ.ค. 2021
สตาร์ทอัพเลบานอน ไอเดียสุดเฉียบคิดค้นไฟแช็กช่วยคนเลิกสูบบุหรี่
สำหรับคนที่ต้องการตัวช่วยสำหรับการเลิกบุหรี่ น่าจะถูกใจกับเครื่องมือนี้อย่างแน่นอน เพราะนี่คือตัวช่วยสำหรับการวางแผนในการลดไปจนถึงเลิกสูบกันเลยทีเดียว ใครจะไปเชื่อว่าไฟแช็กจะกลายมาเป็นตัวช่วยในการเลิกสูบ งานนี้มีแอปฯ และบลูทูธเป็นหัวใจหลัก สตาร์อัพของเลบานอน หวังแก้ไขปัญหาของคนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ ด้วยการโฟกัสไปที่อุปกรณ์ช่วยในการจุดไฟให้กับบุหรี่ ซึ่งก็คือไฟแช็กนั่นเอง งานนี้ไม่ธรรมดาเพราะมันคือไฟแซ็กที่สามารถจดจำจำนวนการจุด เวลาที่ทำการจุด แล้วส่งข้อมูลไปยังแอปพลิเคชั่น เพื่อทำการออกแบบเวลาในการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้งานแต่ละคน “Slighter” คือชื่อของไฟแช๊กรุ่นใหม่นี้ จากข้อมูลที่ปล่อยให้เจ้าของใช้ไปเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก็จะถูกส่งผ่านบลูทูธไปยังแอปฯ บนมือถือ เพื่อทำการออกแบบเวลาเปิดปิดของไฟแช็คที่เหมาะสม หากไม่อยู่ในช่วงเวลาของการใช้งานมันจะจุดไม่ติด ต้องรอจนถึงรอบการสูบครั้งต่อไปถึงจะทำการจุดไฟได้ ซึ่งหน้าจอแสดงผลการนับถอยหลังการจุดครั้งต่อไปเอาไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามมันมาพร้อมกับปุ่มโกง เพื่อให้สามารถทำการจุดไฟได้ทันทีที่ต้องการ เพราะถ้าหากไม่มีปุ่มนี้บรรดานักสูบก็จะเปลี่ยนกลับไปใช้ไฟแช็กธรรมดาแทน ที่มา : www.smartsme.co.th
29 ธ.ค. 2021
สยามคาร์ดีล สตาร์ทอัพค้นหารถใหม่ป้ายแดง
สยามคาร์ดีลดอทคอม เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการค้นหาโปรโมชั่นรถใหม่ป้ายแดง ที่ช่วยให้การเลือกซื้อรถใหม่ สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น ปี 2561 ที่ผ่านมา สยามคาร์ดีลช่วยโชว์รูมรถที่เป็นพันธมิตรทั่วประเทศ ขายรถไปมากกว่า 3,000 คัน Siamcardeal.com เปิดตัวปี 2559 โดยมีการตั้งเป้าหมายเป็นแพลตฟอร์มเพื่อค้นหาโปรโมชั่นสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อรถใหม่ป้ายแดง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในขณะนั้น ทำให้ได้รับการตอบรับจากทั้งผู้บริโภคและดีลเลอร์เป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาช่วยให้ผู้บริโภคได้รถใหม่ในราคาที่ถูกใจ ส่วนดีลเลอร์หรือโชว์รูมก็ได้ยอดขายเพิ่มขึ้น สยามคาร์ดีลทำงานกับโชว์รูมรถยนต์ทั่วประเทศมากกว่า 100 แห่ง มีข้อเสนอและโปรโมชั่นมากกว่า 1,000 รายการ ให้ผู้บริโภคได้เลือกและตัดสินใจ เมื่อมีลูกค้าแสดงความจำนงมาที่เว็บไซต์ สยามคาร์ดีล จะจัดส่งรายชื่อลูกค้าที่มีคุณภาพให้กับโชว์รูมแบบเรียลไทม์ ด้วยระบบ LMS (Leads Management System) ทำให้โชว์รูมบริหารจัดการรายชื่อลูกค้าได้อย่างสะดวก ติดตามลูกค้าได้ง่าย จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์ ทำให้รู้ว่าระบบแบบเรียลไทม์ คือ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสำเร็จ และช่วยเพิ่มยอดขายได้จริง ซึ่งปัจจุบัน ระบบ LMS ถูกใช้งานแล้วอย่างกว้างขวาง ทั้งโชว์รูมในไทย และโชว์รูมรถยนต์ในกลุ่มประเทศ CLMV สยามคาร์ดีลมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักลงทุนเริ่มมองเห็นศักยภาพในการเติบโตและขยายธุรกิจ ทำให้สยามคาร์ดีลได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ล่าสุดได้รับเงินลงทุนจากกองทุน 500 TukTuks และนักลงทุนส่วนตัว (Angel Investor) กว่า 10 ล้านบาท ที่มา : www.smartsme.co.th
28 ธ.ค. 2021
สตาร์ทอัพ Agritech ของอินเดีย จับผลไม้ลงกล่องทำของว่างในนาม Fruit Box & Co
สตาร์ทอัพกลุ่มเทคโนโลยีการเกษตรของอินเดีย ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพ ด้วยการจัดผลไม้ลงกล่องทำเป็นของว่างแล้วจัดส่งตามสำนักงานและโรงเรียน หวังให้คนอินเดียมีสุขภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพชื่อ Fruit Box & Co มาจากความกังวลเรื่องของสุขภาพของคนทำงานในออฟฟิศ ที่ส่วนใหญ่เวลาหิวมักจะมองหาแต่อาหารที่ประกอบไปด้วยแป้งและน้ำตาล เพราะสามารถเลือกโทรสั่งได้จากผู้ให้บริการส่งอาหารที่มีให้เลือกมากมาย นอกจากนั้นยังมองเห็นว่ายังไม่มีใครทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งผลไม้ให้กับคนทั่วไป จึงเกิดไอเดียที่จะทำการให้บริการจัดผลไม้ลงกล่องพร้อมเสิร์ฟสำหรับบรรดามนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในสำนักงาน นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Fruit Box & Co สตาร์ทอัพรายนี้เปิดตัวในปี 2561 เริ่มจาการจัดหาผลไม้สดหลากหลายชนิดจากทั่วอินเดียและทั่วโลก เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าทั้งที่เป็นแบบ B2B และ B2C ในอินเดีย ด้วยเงินลงทุน 10 ล้านรูปี ผลไม้ที่ถูกจัดลงในกล่องเป็นผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรผู้ค้าส่ง ผู้นำเข้า และคู่ค้าที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าสินค้ามีคุณภาพ พวกเขาทำการเชื่อมต่อเครือข่ายกับเกษตรกรมากกว่า 500 ราย ผลไม้ที่รับเข้ามาจะถูกเก็บไว้ในห้องเย็น และมีระบบคอยทำการตรวจเช็คเรื่องของสินค้าคงคลัง นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่อาจจะไม่มีความต้องการด้านเทคนิคชั้นสูงแต่อย่างใด ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความต้องการในการแก้ไขปัญหาและความตั้งใจล้วนๆ ที่มา : www.smartsme.co.th
27 ธ.ค. 2021
แบตเตอรี่ของ Tesla ช่วยรักษาเศรษฐกิจของซิมบับเว
ท่ามกลางสถานการณ์กระแสไฟฟ้าดับยาวนานถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน Econet Wireless Ltd. ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของซิมบับเวได้หันมาพึ่งพา บริษัทด้านพลังงานที่สามารถเก็บรักษาได้เอาไว้ในแบตเตอรี่ เพราะหากปล่อยให้ไฟฟ้าดับมันจะกระทบถึงการทำธุรกรมทางการเงินทั้งหมดของประเทศ ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล การสื่อสารโทรคมนาคมคือส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ หากเครือข่ายโทรคมนาคมไม่ทำงานในซิมบับเว ผู้คนก็จะไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ ได้เลย การติดตั้งแบตเตอรี่ Powerwall ซึ่งเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดที่ Tesla ได้เข้าร่วม ทำให้ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าไปได้ รูปแบบของความสำเร็จนี้กำลังถูกขยายออกไปยัง แซมเบียและคองโก สถานีฐานในซิมบับเวแบบเดิมใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบดีเซล แต่เรื่องของเชื้อเพลิงก็มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอยู่เหมือนกัน คำตอบจึงมาอยู่ที่การใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ โดยทำการผลิตกระแสไฟฟ้าในเวลากลางวัน และทำการเก็บเอาไว้ในแบตเตอรี่เพื่อนำไปใช้ในเวลากลางคืน ซึ่งมันจะสามารถจ่ายพลังงานให้สถานีได้ต่อเนื่องถึง 10 ชั่วโมง เทสลาทำงานร่วมกับบริษัทโทรคมนาคมหลายแห่งทั่วโลก และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการรวมกันของแผงโซลาร์เซลล์และที่เก็บแบตเตอรี่ นี่เป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มา : www.smartsme.co.th
26 ธ.ค. 2021