Category
Tags:
ส่อง Key Success ของสตาร์ทอัพ "Kollective" ที่ฉีกกฎการตลาดรีวิวสินค้าด้วย Data และ Technology
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Influencers คือคลื่นลูกใหม่ของการตลาดดิจิทัล แต่การทำแคมเปญ Influencers ในยุคปัจจุบัน แค่ส่งสินค้าให้คนดังโพสต์อาจไม่ได้ยอดตามที่คาดหวัง ซึ่ง วราพล โล่วรรธนะมาศ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Kollective สตาร์ทอัพด้าน Marketing ได้ใช้ Data และ Technology มาเล่าเบื้องลึกการทำ Influencer Marketing แบบหมดเปลือก ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว วราพลมองเห็นเทรนด์ Influencer Marketing ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเห็นช่องว่างของตลาด Influencers กลุ่ม Young Generation ที่ยังไม่มีคู่แข่ง ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ความต้องการทางการตลาดพบว่า องค์กรต่างๆ มองหา Young Generation Influencers เพื่อเป็นสะพานเข้าถึงลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ จึงก่อตั้ง Kollective “ต่อมาเรามองเห็นปัญหาในการทำ Influencer Marketing ที่หลายแบรนด์มองว่าแค่ส่งสินค้าให้คนดังโพสต์แล้วจบ แต่ในความเป็นจริงกระบวนการเลือก Influencers ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การเลือก Key Message ที่ใช้ในการสื่อสาร การติดตามและวัดผลเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแคมเปญเพื่อให้คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุน จึงทำแพลตฟอร์ม Kolify ที่ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพ Influencer Marketing โดยปัจจุบันมี Influencers ในเครือข่ายจำนวนกว่า 30,000 คน” จากประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกับลูกค้าและ Influencers วราพลเล่า Key Success 3 ข้อของ Kollective ที่ฉีกกฎการตลาดที่ใช้คนดังรีวิวสินค้าแบบเดิมๆ ว่า Strategic Communication ก่อนจะเลือก Influencers ต้องเข้าใจกลุ่มลูกค้าให้ชัดเสียก่อน หลังจากนั้นเลือกใช้ Keyword ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสื่อสารแล้วตรงใจ โดย Kollective ทำ In-depth Analysis และ Social Monitoring เพื่อเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อค้นหา Key Message ที่ใช่ Media Ecosystem การจ้าง Influencers แต่ละครั้งต้องคิดให้ครบ เลือกใช้ Influencers ที่ตรงกับ Marketing Funnels ตั้งแต่ขั้น Awareness จนกระทั่งเกิด Traction นอกจากนั้นใช้ Assets และ Media ของ Influencers ที่จ้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด Influencers Collaboration ไม่ควรเลือกด้วยวิธีสุ่มเดา Kollective มีแพลตฟอร์มที่นำข้อมูลมาช่วยวิเคราะห์ประกอบการเลือก Influencers เพื่อคำนวณ Cost Per Click รวมถึงติดตามผลทำให้การทำแคมเปญครั้งต่อไปมีความแม่นยำมากขึ้น และลดต้นทุนการตลาด “ปัจจุบัน Influencers ส่วนมากอยู่ในกลุ่ม Celebrity หรือ Lifestyle ทำให้ความหลากหลายน้อย เมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด นอกจากนั้น Influencers Marketing ในอนาคต มีแนวโน้มเป็นโมเดล Pay Per Success ที่จ่ายค่าตอบแทนตามยอดขาย” วราพลกล่าวทิ้งท้าย ที่มา : https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/8148.html
27 มิ.ย. 2022
MyCloudFulfillment แชร์บทเรียน เพราะล้มจึงรู้ ทะยานสู่คลังสินค้าที่ออเดอร์ 4 แสนกล่องต่อเดือน
“เพราะล้มจึงรู้” คำคำนี้ดูจะเหมาะกับ นิธิ สัจจทิพวรรณ CEO, MyCloudFulfillment เพราะการที่เขาทำคลังสินค้าออนไลน์จนประสบความสำเร็จในวันนี้ เกิดจากการเรียนรู้ข้อผิดพลาดที่ได้จากความล้มเหลวของธุรกิจจิวเวลรีออนไลน์มาก่อน ซึ่งเมื่อเขาพบปัญหาของการทำธุรกิจออนไลน์อันเนื่องมาจากระบบหลังบ้าน จึงตัดสินใจเปิดธุรกิจใหม่ นั่นคือ MyCloudFulfillment ที่ในช่วงแรกๆ มีออร์เดอร์เพียง 5 กล่องต่อวัน แต่ในปัจจุบันมีถึง 4 แสนออร์เดอร์ต่อเดือน “จริงๆ เรายังโตได้ไม่ดีพอ เพราะว่าโอกาสมีอีกมากๆ สถานการณ์โควิด-19 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโต มีผู้ประกอบการออนไลน์เพิ่มมากขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างเกิดขึ้น แต่ด้วยความที่เรายังไม่มีเงินมากเพียงพอ จึงทำให้เรายังไปได้ไม่เร็วพอ” อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับเงินลงทุน Series A มูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2563 และรอบ Series B จำนวน 7.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก JWD และ SCB 10X เมื่อปลายปี 2564 นิธิก็บอกว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ จาก MyCloudFulfillment ใน 3 เรื่องหลักๆ คือ ประการแรก การขยายศักยภาพคลังสินค้า เป็นการขยายพื้นที่เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น ประการที่สอง กลุ่มลูกค้าเดิมแต่ทำบริการใหม่ ซึ่งต่อไปนี้ MyCloudFulfillment จะไม่ใช่แค่คลังสินค้าที่ให้พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์มาเก็บสินค้าเท่านั้น แต่ยังจะหาวิธีช่วยเพิ่มโอกาสในการขายอีกด้วย “สินค้าที่วางไว้ในคลังบางตัวขายได้ก็ดี แต่ที่ขายไม่ได้เราจะหาวิธีช่วย เป็นการเพิ่มโอกาสในการขายโดยเฉพาะสินค้าที่ระบายออกได้ช้า ตรงนี้จะทำให้เราแตกต่างจากคลังสินค้าอื่น เป้าหมายในการทำคลังของเราตั้งแต่แรกคือ อยากให้ร้านค้ามีระบบที่จัดการได้ง่ายและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น บริการใหม่นี้ก็จะสอดรับไปกับปณิธานของเราคือ ช่วยให้ลูกค้าขายของได้มากขึ้น” ประการที่สาม การทำบริการเดิมแต่ตลาดใหม่ ซึ่งก็คือการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ “เวียดนามประเทศแรกที่เราจะไปในปีหน้า เพราะว่าเป็นประเทศที่มีความใกล้เคียงกับเรา พฤติกรรมของคนที่ใช้โซเชียลมีดีย พฤติกรรมการซื้อ-ขายออนไลน์เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากกว่าเมืองไทยด้วยซ้ำ ตลาดกำลังเติบโตได้ดี และกำลังจะแซงขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในอาเซียนแทนที่ไทย นั่นคือเหตุผลที่เรารับเงินลงทุนจาก JWD ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน เพราะถ้าจะไปต่างประเทศเราจะไปต่อกับคู่ค้าอย่างนี้ เพื่อทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น” นิธิกล่าวในตอนท้ายด้วยว่า ความตั้งใจของ MyCloudFulfillment คือ ต้องการช่วยให้ลูกค้าขายของได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ โดย MyCloudFulfillment จะเป็นตัวกลางที่จะทำให้ธุรกิจเล็กๆ เหล่านั้นสามารถไปต่อได้ ที่มา : https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/8153.html
26 มิ.ย. 2022
สตาร์ทอัพต้องรู้จักการเล่าเรื่องแบบ "Rhetorical" โน้มน้าวใจให้ได้เงินระดมทุนสไตล์ อริสโตเติล
การระดมทุนเป็นหนึ่งในงานที่ท้าทายสำหรับผู้ก่อตั้ง Startup มือใหม่ เพราะต้องอาศัยประสบการณ์การนำเสนอที่สร้างความน่าเชื่อถือและโน้มน้าวให้นักลงทุนเชื่อมั่นในไอเดียจนกล้าลงเงินสนับสนุน วันนี้เรามีตัวช่วยสุดคลาสสิก หลักการเล่าเรื่องแบบ Rhetorical ของอริสโตเติล ที่ใช้ในการโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังคล้อยตาม โดยการเล่าเรื่องแบบ Rhetorical นั้นประกอบไปด้วย 3 หลัก คือ Pathos การสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง Logos การใช้ข้อมูล สถิติ และ Ethos ความน่าเชื่อถือของสิ่งที่พูดและผู้พูด ซึ่งด้วยวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้ Startup Founder สามารถมัดใจนักลงทุนแบบอยู่หมัดได้ Pathos ความเข้าอกเข้าใจผู้ฟังและสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง การเริ่มต้นเล่าไอเดียด้วยเหตุการณ์ที่สร้างอารมณ์ร่วมช่วยดึงความสนใจของนักลงทุนตามหลักของ Pathos เนื่องจากเรื่องราวที่มนุษย์มีอารมณ์และความรู้สึกร่วมสามารถสร้างความจดจำได้ดีกว่า จากสถิติการเล่าเรื่องในหนังสือ Talk Like Ted ระบุว่า เรื่องเล่าบนเวที Ted Talk ของ Bryan Stevenson ที่ผู้ฟังปรบมือยาวนานที่สุด ใช้เวลากว่า 65 เปอร์เซ็นต์ในการเล่าเรื่องที่กระตุ้นอารมณ์และความสนใจของผู้ฟัง กลเม็ดเคล็ดลับข้อนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการนำเสนอนักลงทุน แต่อาจปรับสัดส่วน โดยการนำเสนอในส่วนแรก Startup อาจคัดเลือกเรื่องราวที่น่าสนใจนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าสั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น การหยิบเรื่องเล่าของคุณปู่วัย 70 ปีที่ชีวิตดีขึ้นเพราะ Startup ของเรา หรือเล่าเรื่องราวยอดการลงทะเบียนใช้บริการสูงเกินความคาดหมาย เนื่องจากในแต่ละวันนักลงทุนฟังไอเดีย Startup จากทั่วโลกมานับไม่ถ้วน ก้าวแรกของความสำเร็จคือทำอย่างไรให้การเริ่มต้นนำเสนอของคุณดึงความสนใจให้นักลงทุนตั้งใจฟังตั้งแต่ต้นจนจบ Logos การใช้ข้อมูล สถิติ แหล่งอ้างอิง เพื่อสร้างความสมเหตุสมผล นักลงทุนมักมองหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อสนับสนุนสิ่งที่นำเสนอ ดังนั้น การคัดเลือกข้อมูล สถิติที่น่าสนใจและสอดคล้องกับสิ่งที่นำเสนอเป็นหัวใจสำคัญ หลายคนคงตั้งคำถามในใจว่าเราจะเลือกข้อมูลที่น่าเชื่อถือในขณะเดียวกันน่าสนใจได้อย่างไรกัน? - เล่าข้อมูลแบบ Comparison เนื่องจากสมองของมนุษย์ชอบการเปรียบเทียบ ดังนั้น หากอยากนำเสนอให้เห็นความแตกต่างของสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งอย่างชัดเจน การนำเสนอคู่กัน จะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเล่าว่ายอดขายของ Startup เติบโตอาจไม่เห็นภาพ หากมีข้อมูลเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การเติบโตของ Startup และบริษัทคู่แข่ง จะทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า เราเติบโตมากกว่าคู่แข่งกี่เท่า - เล่าข้อมูลแบบ Timeline เหมาะกับการเล่าข้อมูลที่เชื่อมโยงกับช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่น การเล่าแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และแผนในอนาคต หากใช้วิธีแบ่งช่วงเวลา จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น - การเล่าข้อมูลแบบ Visualization การแปลงข้อมูลเป็นภาพช่วยสร้างความน่าสนใจและสร้างความน่าเชื่อถือ หากต้องการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ยกตัวอย่าง การเล่าความรู้สึกของผู้ใช้ หากมีภาพประกอบหรือมีวิดีโอของผู้ใช้จริงจะช่วยให้นักลงทุนเชื่อในสิ่งที่เล่าได้มากกว่า Ethos ความน่าเชื่อถือของสิ่งที่พูดและผู้พูด สิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญคือ ศักยภาพของทีมโดยเฉพาะกลุ่มผู้ก่อตั้ง เพื่อประเมินว่าทีมมีศักยภาพขับเคลื่อนไอเดียให้เป็นจริงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่? ดังนั้น ประสบการณ์การทำงานของคนในทีมที่แตกต่างกัน ความสำเร็จของผู้ก่อตั้ง และผลงานที่ทำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรหยิบเรื่องราวที่เล่าความสามารถเฉพาะด้านของแต่ละคนในทีมมานำเสนอ แต่ควรเล่าให้เห็นภาพรวมของทั้งทีม ซึ่งการเล่าความสามารถและศักยภาพของทีมสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น - การเล่าผ่านประสบการณ์การทำงานของแต่ละบุคคล กรณีนี้เหมาะกับการที่คนในทีมเคยทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียง หรืออยู่ในตำแหน่งที่ใหญ่ - การเล่าความสามารถของทีมผ่านรางวัล หรือการแข่งขัน เช่น CTO ของเราแข่งขันด้านปัญญาประดิษฐ์ในการแข่งขันที่ประเทศจีนและได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ด้านความแม่นยำของการประมวลผล - เล่าผลงานที่เกิดขึ้นจากการทำงานและการบริหารงาน เช่น ปีที่ผ่านมา CBO ของเราสามารถสร้างพันธมิตรกับภาคธุรกิจกลุ่มค้าปลีกได้ 5 ราย ทำให้ฐานลูกค้าผู้ใช้งานเติบโตมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ การเล่าเรื่องแบบ Rhetorical ช่วยเป็นแนวทางในการร้อยเรียงเรื่องราวการนำเสนอของ Startup Founder ให้น่าสนใจและจูงใจนักลงทุน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การหมั่นฝึกซ้อมในการนำเสนอ ก่อนลงสนามจริง ที่มา : https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/8166.html
25 มิ.ย. 2022
รู้จัก Finda สตาร์ทอัพให้บริการสินเชื่อที่เอื้อคนรุ่นใหม่ กู้ง่ายบนออนไลน์ ใช้เวลาแค่ 6 นาที
เกาหลีใต้ขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมปิตาธิปไตย ที่ผู้ชายมีบทบาทและเป็นใหญ่กว่าเพศหญิง จึงไม่แปลกที่จะเกิดช่องว่างความเสมอภาคทางเพศในแวดวง Startup ของเกาหลี ข้อมูลระบุในบรรดาผู้ก่อตั้ง Startup ทั้งหมดในเกาหลี มีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ แม้จะเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่ก็มีผู้หญิงเกาหลีจำนวนหนึ่งสามารถฝ่าฟันจนได้รับการยอมรับในสังคม หนึ่งในนั้นคือ ลี ฮเย มิน ลี ฮเย มิน ผู้ประกอบการสาววัย 37 ปีเป็นอีกหนึ่งดาวรุ่งในวงการ Startup เกาหลี เธอเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทฟินด้า (Finda) ฟินเทคที่ให้บริการด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบครบวงจร มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากกว่า 17,000 รายการจาก 50 กว่าสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ฟินด้าเน้นการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ ในรูปแบบที่ง่ายและสะดวกที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีมาวิเคราะห์ว่าผู้กู้สามารถกู้ได้ต่ำสุดและสูงสุดเท่าไหร่ได้ในเวลาไม่กี่วินาที และผู้กู้กับผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน ทุกธุรกรรมทำผ่านระบบออนไลน์หมด กว่าจะขึ้นแท่นผู้หญิงแนวหน้าในสังคม Startup เกาหลี ไปดูปูมหลังของผู้หญิงเก่งคนนี้กัน ลี ฮเย มินจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเกาหลี เคยฝึกงานที่กระทรวงการต่างประเทศและการค้าของเกาหลี เริ่มต้นทำงานที่บริษัทเอสทีเอ็กซ์ คอร์ปอเรชั่น ก่อนย้ายมาทำงานที่บริษัทร็อคเก็ต อินเตอร์เน็ต และมีส่วนร่วมริเริ่ม Glossybox ธุรกิจจัดส่งตัวอย่างเครื่องสำอางแบบสุ่มให้สมาชิกจนธุรกิจขยายไปใน 7 ประเทศเอเชีย หลังจากนั้น ลี ฮเย มินก็คลุกคลีในธุรกิจ Startup เรื่อยมา โดยตั้งบริษัทพีเพิ้ลแอนด์โคให้คำปรึกษาด้านการตลาดและอีคอมเมิร์ซ รวมถึงเป็นเจ้าของ Noom ที่พัฒนาแอปพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพและฟิตเนสที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเกาหลี ครั้นประสบความสำเร็จจาก 2 Startup ที่ก่อตั้งขึ้น ลี ฮเย มินก็เริ่มมองหาโอกาสจากธุรกิจอื่น และไปลงเอยที่ธุรกิจบริการสินเชื่อออนไลน์ ลี ฮเย มินมองว่าที่ผ่านมาบริษัทหรือสถาบันที่บริการสินเชื่อรายหลักที่มีอยู่ไม่ได้จับตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บนออนไลน์มีไม่มากพอ ลีจึงตั้ง Startup แห่งที่ 3 ในชื่อฟินด้า (Finda) ขึ้นในปี 2559 เพื่อให้เป็นตลาดนัดผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งมีตั้งแต่สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อธุรกิจ บริการเครดิตการ์ด และบริการประกันต่างๆ โดยมีบริษัทและสถาบันการเงินเข้าร่วมมากมาย แพลตฟอร์มฟินด้าเจาะกลุ่มผู้ใช้งานอายุ 20-30 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้แต่เครดิตอาจไม่ดีนักทำให้กู้สินเชื่อยาก ลี ฮเย มินจึงอยากรังสรรค์บริการที่ทำให้การซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นง่ายและสะดวกเหมือนการซื้อสินค้าออนไลน์ทั่วไป ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าเข้าชมแพลตฟอร์มฟินด้าผ่านสมาร์ทโฟน หลังเปิดบริการได้ 3 ปี ฟินด้าก็ได้รับการเชิดชูจากคณะกรรมาธิการบริการด้านการเงินว่าเป็นองค์กรให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินอันดับ 1 ของประเทศ และมีเงินลงทุนรอบซีรีส์ A ไหลเข้ามูลค่า 4,500 ล้านวอน หรือราว 125 ล้านบาท ซีอีโอฟินด้ากล่าวว่า การเปิดบริการฟินด้าถือว่าบรรลุเป้าหมายในการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายและสะดวก เพราะก่อนหน้านั้น กว่าผู้บริโภคจะได้รับการอนุมัติต้องผ่านขั้นตอนมากมายกว่า 10 ขั้นตอน แต่ฟินด้าสามารถย่นเวลาลงเหลือเพียงเช็กอัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งใช้เวลาแค่นาทีเดียว จากนั้นดำเนินการกู้ การดำเนินธุรกรรมก็สำเร็จใน 6 นาทีเท่านั้น ข้อมูลระบุ 70 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าที่เคยกู้สินเชื่อจากช่องทางอื่นมาแล้ว เมื่อมากู้ผ่านฟินด้าจะได้รับข้อมูลจากหลากหลายบริษัทและสถาบันการเงิน ข้อมูลมีความรอบด้านมากขึ้นทำให้สามารถเปรียบเทียบจนนำไปสู่การยื่นขอสินเชื่อใหม่ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิมประมาณ 11.8 เปอร์เซ็นต์ ช่วง 3 ปีแรกของการให้บริการ สินเชื่อที่อนุมัติการกู้ผ่านแพลตฟอร์มฟินด้ารวมแล้วมูลค่า 12.1 ล้านล้านวอน แม้ช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 จะมีหลายสถาบันการเงินต้องเปิดบริการสินเชื่อออนไลน์ของตัวเอง แต่จำนวนผู้ใช้บริการฟินด้ากลับเพิ่มขึ้น มีผู้เข้ามาหาข้อมูลสินเชื่อเฉลี่ยเดือนละ 4,000 ราย และแตะที่ประมาณ 1 ล้านรายต่อเดือน นั่นคือข้อได้เปรียบของการเข้ามาจับตลาดและยึดหัวหาดก่อน ในฐานะที่เป็นตัวกลางระหว่างลูกค้าซึ่งเป็นผู้กู้กับสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ ในการให้สินเชื่อแต่ละครั้ง ฟินด้าจะคิดค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินเฉลี่ย 300,000 วอน (ราว 8,200 บาท) ต่อหนึ่งสินเชื่อซึ่งส่วนใหญ่การปล่อยกู้แต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านวอน หรือราว 1.4 แสนบาท รายได้ส่วนหนึ่งของฟินด้ายังมาจากการทำการตลาดให้สถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรด้วย เมื่อมีลูกค้าคลิกเข้าไปชมโฆษณาสถาบันการเงินใดก็ตามบนแพลตฟอร์ม ฟินด้าจะได้รับ 6,000 วอนจากสถาบันการเงินนั้น ในส่วนของผู้กู้ นอกจากไม่คิดค่าธรรมเนียมใดๆ ฟินด้ายังมีโปรโมชันให้เป็นบางโอกาสอีกด้วย เช่น การร่วมมือกับธนาคารหรือบริษัทประกันแนะนำสินเชื่อ หากผู้กู้เป็นพนักงานออฟฟิศ จะได้ลดดอกเบี้ยลง 0.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ลี ฮเย มินมีแผนขยายบริการไปยังสินเชื่อเพื่อการศึกษา และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้วยหลังการให้สินเชื่อที่กระทำผ่านฟินด้าเพิ่มขึ้นทะลุนับพันเปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องการรักษาระยะห่าง การปล่อยสินเชื่อตามแบบ Untact ซึ่งมาจากคำว่า un + contact หรือการไม่ต้องพบปะกันตัวต่อตัว จึงกลายเป็นวิถีใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน ที่มา : https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/8176.html
24 มิ.ย. 2022
บทเรียนจาก Clever Math สตาร์ทอัพที่ต้องชะงักเมื่อมองข้าม Pain point ของผู้ใช้งาน
ต่อให้โปรดักต์ดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ไม่มีใครอยากใช้ ก็ยากที่จะไปรอด ดังนั้น การหา Product-Market Fit หรือการทำสินค้าที่มีตลาดรองรับ ตรงกับความต้องการของลูกค้าจึงมีความสำคัญ ซึ่งมี Startup หลายรายที่ประสบปัญหานี้ รวมถึง ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ ผู้พัฒนาแอปฯ Clever Math ที่มีประสบการณ์จากการหา Product-Market Fit จนทำให้ต้องเสียเวลามาแบ่งปันประสบการณ์นั้น Clever Math เป็นแอปฯ ที่เกิดจากความตั้งใจของณัฐธีร์ ที่อยากให้เด็กไทยเก่งคณิตศาสตร์ และเรียนด้วยความสนุกสนาน โดยเขาเห็น Pain Point การเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเด็กๆ มาตั้งแต่อดีต นั่นคือเด็กไม่อยากทำการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ แต่วิชานี้ถ้าไม่หมั่นทำแบบฝึกหัดก็ยากที่จะเก่งขึ้นมาได้ จึงพัฒนา Clever Math ซึ่งเป็นเกมคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้น ป.4-6 ให้เด็กๆ ฝึกทำแทนการทำการบ้าน ทั้งนี้จากการหาความต้องการของเด็ก เขาพบว่าเด็กๆ ชอบการ์ตูน ชอบเกม และชอบการแข่งขัน ซึ่งทั้งหมดคือคุณค่าที่ Clever Math มอบให้กับนักเรียน ขณะที่ในมุมของครูนั้น ณัฐธีร์บอกว่า Clever Math จะซื้อเวลากลับมาให้ครู แทนที่จะต้องนั่งตรวจการบ้านก็มีเวลาไปทำประโยชน์ด้านอื่น เพราะด้วยระบบของ Clever Math จะวิเคราะห์ให้ครูได้เห็นข้อมูลว่าเด็กมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน “ทำมาในช่วง 2-3 ปีแรกเราคิดและจินตนาการว่าความคิดของเราน่าจะถูกต้อง เพราะเราสอนคณิตศาสตร์เห็นปัญหาของเด็กมาโดยตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่เราพลาดคือ เราหา Pain Point เด็ก แต่ไม่ได้หา Pain Point ของครู เลยทำให้เมื่อลองใช้ครั้งแรกครูถึงขั้นกุมขมับ ไม่อยากใช้งานเพราะไม่ตอบโจทย์ ทำให้เราต้องกลับมาทำวิจัยหาปัญหาที่เกิดขึ้นกับครูว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งพบว่าครูไม่ถนัดใช้แอปฯ การที่จะให้ครูได้ใช้งานมันต้องง่าย” เพราะการมองข้าม Stakeholders ที่เกี่ยวข้องนี้ ทำให้ 3 ปีแรกของ Clever Math เหมือนเสียเวลาเปล่า “เราใช้เวลาพัฒนา Clever Math มา 3 ปีจนเกือบสมบูรณ์ แต่ต้องเสียเวลาอีกกับการหาความต้องการและพัฒนาตามความต้องการของครูซึ่งรวมเสียเวลาอีกปีครึ่ง ทั้งๆ ที่จริงถ้าในตอนแรกทำแค่ Prototype แล้วเอาไปให้ครูได้ทดลองก่อนว่าเป็นอย่างไร ก็จะทำให้ไม่เสียเวลามากขนาดนี้” ณัฐธีร์จึงบอกว่า ในการหา Product Market Fit ควรจะศึกษาและเปิดใจเปิดสมองตัวเองให้เร็วที่สุด อย่าปิดตัวเองกับไอเดียที่มีตั้งต้นเท่านั้น แต่ให้ไปคุยกับตลาดหาข้อมูลให้มากพอ ยิ่งได้ข้อมูลมากก็จะยิ่งลดความเสี่ยงแล้วเพิ่มความรวดเร็วในการพัฒนาโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ที่มา : https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/8178.html
23 มิ.ย. 2022
เจ๊งในกระดาษดีกว่า ด้วยแนวคิด 3V ที่ช่วยให้คุณพร้อมก่อนลงสนามจริง
ในวงการ Startup มีคำพูดติดปากว่า “Idea is cheap execution is everything” เพราะไอเดียเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งการทำไอเดียให้เป็นจริงคือ ความท้าทายที่รอ Startup ทุกคนอยู่ และระหว่างเส้นทางการปั้นไอเดียให้เกิดขึ้นจริง นอกเหนือจาก Passion แล้ว ทั้ง Founder และทีมยังต้องลงเงิน ลงแรง และลงเวลา เพื่อไม่ให้ความตั้งใจรวมถึงทรัพยากรสูญเปล่าอีกด้วย วันนี้เราจึงมีเครื่องมือการคิดแบบ 3V-Vision, Value และ Validation ตัวช่วยคัดกรองไอเดียก่อนเริ่มลงมือทำจริงมาแนะนำ เพราะการล้มในขั้นไอเดีย ก็ยังเจ็บน้อยกว่าลงมือทำแล้วล้มหลายเท่าตัวทีเดียว Vision ช่วยให้ทุกคนในทีมเห็นเป้าหมายระยะยาวและเห็นสิ่งที่จะสร้างขึ้นร่วมกัน หากทีมของคุณยังหา Vision ไม่เจอ อาจลองใช้เครื่องมือ Golden Circle วงกลมสามวงที่ประกอบด้วย Why How และ What เพื่อช่วยตกตะกอนความคิด และหาคำตอบได้ สำหรับเครื่องมือ Golden Circle จะเริ่มคิดจากวงในสุดคือ Why ทำไมพวกคุณถึงอยากทำไอเดียนี้ให้เป็นจริง? หลังจากรู้ Why อย่างถ่องแท้แล้วค่อยขยับไปหาคำตอบที่วงกลมตรงกลางคือ How คุณจะทำไอเดียให้เป็นจริงได้อย่างไร? และสิ้นสุดที่วงกลมนอกสุด คือ What ไอเดียที่พวกคุณคิดคืออะไร? หากคุณได้ Vision ร่วมกันแล้ว ลองถามตัวเองและคนในทีมต่อด้วยคำถาม 2 ข้อต่อไปนี้ -การจะทำ Vision ให้สำเร็จ มีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้องบ้าง? -ในอนาคต หากไอเดียของเราจะล้มเหลว ไม่สำเร็จตาม Vision สาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร? การหา Value (คุณค่า) เริ่มต้นจากรู้ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายและเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา กลุ่มเป้าหมายสามารถแบ่งในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้า คือคนที่จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการ โดยเขาอาจเป็นคนที่ใช้สินค้าหรือบริการด้วยตัวเองหรือให้คนอื่นใช้ก็ได้ ซึ่งในทางกลับกันกับกลุ่มที่ 2.กลุ่มผู้ใช้ คือผู้ที่ใช้สินค้าหรือบริการ แต่อาจจ่ายเงินเองหรือคนอื่นจ่ายเงินให้ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทซื้อหลักสูตรอบรมออนไลน์ให้กับพนักงาน บริษัทในฐานะผู้ตัดสินใจซื้อและจ่ายเงิน คือลูกค้า ในขณะที่พนักงานในบริษัทคือผู้ใช้ เมื่อค้นหากลุ่มเป้าหมายเจอ ลองคิดในมุมกลุ่มเป้าหมาย และตอบคำถาม 3 ข้อ - อะไรคือคุณค่าที่แท้จริงของไอเดียของคุณ? ไอเดียของคุณช่วยให้ชีวิตกลุ่มเป้าหมายดีขึ้นอย่างไร? - ไอเดียของคุณแตกต่างจากสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาดอย่างไร? - ทำไมกลุ่มเป้าหมายถึงเลือกไอเดียของคุณ? เหตุผลเบื้องหลังในการตัดสินใจเลือกไอเดียของคุณคืออะไร? หากคุณตอบคำถาม 3 ข้อได้แล้ว แสดงว่าคุณกำลังดำเนินมาถึงครึ่งทางในกระบวนการคัดกรองไอเดีย จุดประสงค์หลักของขั้นตอนนี้ คือค้นหาคำตอบว่าไอเดียที่เราคิดมีความต้องการของตลาดอยู่จริง เพื่อสร้างความมั่นใจ ก่อนลงแรง ลงเงิน และลงเวลา การทดสอบไอเดียเริ่มจากการทำ “Customer Validation Interview” หรือ การพูดคุยกับ “กลุ่มเป้าหมาย” เพื่อรู้ความต้องการที่แท้จริง เข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจเหตุผลในการตัดสินใจซื้อ รู้สินค้าหรือบริการที่กลุ่มเป้าหมายใช้ในปัจจุบัน รู้กำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมาย หลังจากจบการพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมาย นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์แบบไม่คิดเข้าข้างตัวเองว่าไอเดียของเราส่งมอบ “Value” หรือ คุณค่า ให้กลุ่มเป้าหมายหรือไม่? หากคำตอบคือใช่ ยินดีด้วย ไอเดียนี้ของคุณได้ไปต่อ แต่ถ้าไม่ใช่ รู้ในตอนนี้ก็ดีกว่าลงเวลาลงเงินไปแล้วเสียหายทีหลัง ที่มา : https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/8079.html
22 มิ.ย. 2022
ดีพร้อมเซนเตอร์ 7 เสริมแกร่ง SMEs ปรับกลยุทธ์ จัดการข้อมูลด้วยระบบดิจิทัล
17 มิถุนายน 2565 ดร.รุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM CENTER 7) มอบหมายให้ นายกฤษณะ นอขุนทด ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรม ร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน ในกิจกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ณ สถานประกอบการ อาทิ ร้านหมูยอแม่เสถียร, บริษัท เดอะกู๊ด คอมเมิร์ซ จำกัด, บริษัท ตั้งใจ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการ วางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า สามารถวิเคราะห์ต้นทุนการดำเนินกิจการเพื่อหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งนำไปสู่การประเมิลผลการปฏิบัติงานของพนักงานในองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม . เจ้าหน้าที่ นายรัฐนนท์ บุญญา, นายพิจิตต์ จอมหงษ์ , นายตระกูล อ่อนรัตน์, นายจิตติ โสบุญ . #DIPROM #ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่7
22 มิ.ย. 2022
ZORT หยิบ Pain point ของคนขายออนไลน์มาสร้างรายได้ด้วยแพลตฟอร์มจัดการออเดอร์&สต๊อก
เมื่อการซื้อขายออนไลน์เติบโตอย่างมาก ระบบการจัดการร้านค้าออร์เดอร์และสต็อกออนไลน์จึงยิ่งมีบทบาทสำคัญ และนี่จึงทำให้ ZORT ซึ่งเริ่มต้นจากเห็นปัญหาของผู้ประกอบการในการจัดการสต็อกสินค้าเมื่อ 6ปีที่แล้วที่ไม่มีระบบการจัดการที่ดีมารองรับ ได้พัฒนากลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเพิ่ม Ecosystem ให้กับร้านค้าออนไลน์ทำงานด้านบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สวภพ ท้วมแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด (ZORT) เล่าว่า “ZORT เกิดขึ้นจากการเห็นปัญหาของธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟฟไลน์ โดยหวังว่าจะมาปิดจุดอ่อนของผู้ประกอบการที่มีการเปิดร้านค้าผ่านหลายแพลตฟอร์ม เช่น Lazada, Shopee, JD central, Facebook หรือ Line เป็นต้น ซึ่งทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการออร์เดอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ZORT จึงรวบรวมการขายของจากหน้าร้านทุกแพลตฟอร์มและหน้าร้านแบบออฟไลน์มาไว้ที่เดียว ทั้งระบบจัดการคลังสินค้า จัดการออเดอร์ จัดการสต๊อก จัดการขนส่ง จัดการระบบรับชำระเงิน (Payment Gateway) รวมถึงฟีเจอร์ส่งเสริมการขายจำนวนมาก” สวภพ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ZORT เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการออร์เดอร์และสต๊อกครบวงจร พัฒนาจากความคิดเห็นของผู้ใช้งานจริงและการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า (Data Analysis) เพื่อต่อยอดพัฒนาการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับพันธกิจของบริษัทที่ต้องการสนับสนุนการเติบโตของลูกค้า เนื่องจากสามารถทราบถึงต้นทุนจากการขาย วิเคราะห์แนวโน้มกำไร เรียกดูข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับสถิติการขายของเจ้าของร้าน เช่น รายการสินค้าที่สร้างยอดขายได้ดี และรายการสินค้าที่ไม่ได้รับความนิยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ “เราตั้งใจที่จะเป็นสะพานให้ทั้งธุรกิจเล็กและใหญ่ สามารถเติบโตได้โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นมา สิ่งสำคัญ ลูกค้าสามารถเห็นภาพรวมต่างๆ จากระบบได้เลย ทำให้สามารถตัดสินใจได้ถูกทิศทางมากขึ้น ปัจจุบันเราให้บริการร้านค้ากว่า 3,000 ร้านค้า สิ่งสำคัญคือช่วยธุรกิจลูกค้าให้สามารถเติบโตได้มากกว่า 30เปอร์เซ็นต์ และสามารถช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์” สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจนั้น สวภพ บอกว่า ปี 2565 เขาตั้งเป้าหมายที่จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ร้านค้ รวมถึงตั้งเป้าหมายระดับ 3 ปี จะสามารถขยายฐานลูกค้าไปถึง 18,000 ร้านค้า ซึ่งล่าสุด ZORT ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจาก บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด และ บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด และนักลงทุนอิสระ ในการเพิ่มทุนระดับ Series A โดยการระดมทุนครั้งนี้จะทำให้ ZORT ได้รับเงินทุน 55 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอให้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ รวมถึงการบุกตลาดอาเซียนในอนาคต ที่มา : www.smethailandclub.com https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/8092.html
21 มิ.ย. 2022
สตาร์ทอัพมาเลย์ชูซองพัสดุย่อยสลายได้แก้ปัญหาพลาสติกจากธุรกิจออนไลน์ล้น
กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกด้วยการลดละพลาสติกย่อยสลายยากมีมานานแล้ว บริษัทและองค์กรทั้งหลายต่างพัฒนานวัตกรรมที่ทำให้เกิดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ แต่การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและการเกิดขึ้นของแพลทฟอร์มออนไลน์จำนวนมากทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกจากพัสดุที่คนขายจัดส่งให้ลูกค้า ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว Startachi สตาร์ทอัพมาเลเซียที่ก่อตั้งโดยเทวา คุณาสันตาร์ และญาติอีก 2 คนได้แก่ วิโนดและปูนิธาได้แนะนำซองพัสดุพลาสติกที่ฝังดินแล้วสามารถย่อยสลายได้ใน 6 เดือน ซองพัสดุย่อยสลายได้ดังกล่าววางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ StartPack เป็นซองที่ผลิตโดยใช้วัสดุจากพืชที่คล้ายแป้งข้าวโพดและมีส่วนผสมของ PBAT (Polybutylate Adipate Terephthalate) ซึ่งเป็นโคพอลิเมอร์แบบสุ่มที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ คำแนะนำคือเมื่อใช้งานแล้วให้ตัดซองพัสดุ StartPack เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วฝังดินหรือใส่ในถังขยะที่ใช้ทิ้งเศษอาหาร หรือขยะอินทรีย์เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก หากทิ้งรวมกับขยะอื่น ๆ ในที่ทิ้งขยะทั่วไปก็ทำได้แต่จะใช้เวลาในการย่อยสลายนานขึ้น อาจจะ 2-3 ปี แต่ก็ยังถือว่าเร็วกว่าพลาสติกที่ย่อยสลายยากหรือไม่ย่อยสลายเลย บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อธรรมชาติฟังดูเป็นแนวคิดที่ดีต่อทั้งผู้บริโภคและเจ้าของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคอย่างหนึ่งคือการต้องแลกกับต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งผู้ประกอบการอาจไม่ยินดีที่ลงทุนในส่วนนี้นัก เจ้าของผลิตภัณฑ์อาจต้องโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการคล้อยตามและหันมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเหล่านี้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างซองพัสดุ StartPack เองก็มีข้อจำกัด เช่น การผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ทำให้มีอายุใช้งาน 10-12 เดือน และต้องจัดเก็บในที่ไม่ร้อน และไม่โดนแสง นอกจากนั้น เบื้องต้น ซองพัสดุ StartPack มีให้เลือก 2 ขนาดได้แก่ขนาดมาตรฐาน 260 x 385 มม. และขนาด M 260 x 385 มม. ซึ่งสามารถบรรจุสิ่งของที่มีน้ำหนักไม่เกิน 1.5 กิโลกรัม ส่วนราคานั้นก็สูงเอาการ StartPack ขนาด M 1 แพ็คจำนวน 50 ซอง จำหน่ายในราคา 59 ริงกิตหรือราว 470 บาทเทียบกับซองพัสดุพลาสติกทั่วไปขนาดเดียวกัน ปริมาณเท่ากัน ราคาแค่ 11 ริงกิต หรือประมาณ 88 บาทเท่านั้น เทวาซึ่งเป็นผู้บริหาร Startachi อธิบายว่าซองพลาสติกทั่วไปสามารถจำหน่ายในราคาถูกกว่าเนื่องจากเป็นที่ต้องการมากในตลาด และการผลิตปริมาณมากก็ทำให้ราคาถูกลงด้วย ต่างจากบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ที่ยังใช้งานไม่แพร่หลายนัก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่า แต่เทวาเชื่อว่าหากบริษัทใหญ่ ๆ เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืนมากขึ้น ราคาก็จะลดลงจนเกือบเท่าพลาสติกทั่วไป นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนกพ. 2021 ลูกค้าของ Startachi โดยมากเป็นผู้ขายสินค้าออนไลน์รายย่อยในอินสตาแกรม เฟสบุ๊ก หรือ Etsy แต่เทวามีแผนจะประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มธุรกิจหรือองค์กรที่ใหญ่ขึ้นโดยการชูประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และผลกระทบจากการพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอันเป็นปัญหาที่ถูกมองข้ามในมาเลเซีย การประชาสัมพันธ์ดังกล่าวจะทำผ่านบรรดาอินฟลูเอนเซอร์บนแพลทฟอร์มต่าง ๆ เทวาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มสตาร์ทอัพ Startachi สนใจสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากการถูกปลูกฝังให้ทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง หลังเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เธอก็ยิ่งสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และได้อ่านบทความหรือข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจนนำไปสู่ความตั้งใจที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปี 2019 เทวาและน้องชายได้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ปลอดขยะขึ้นมา ได้แก่ ฟองน้ำล้างจานที่ทำจากใยของกาบมะพร้าว และได้นำไปวางขายตามร้าน zero waste หรือร้านที่มีแนวคิดในการลดขยะเป็นศูนย์ กระทั่งเทวาได้ไปช่วยงานพี่สาวในการแพ็คสินค้าที่เป็นงานศิลปะเพื่อจัดส่งให้ลูกค้า เธอพบว่าพลาสติกกันกระแทกถูกนำมาใช้เยอะมากในการห่อสินค้าแต่ละชิ้น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่านี่ขนาดร้านของพี่สาวร้านเดียวยังใช้พลาสติกเยอะขนาดนี้ ถ้ารวมกับร้านอื่น ๆ พลาสติกจากพัสดุคงถูกทิ้งในปริมาณมหาศาล เมื่อบวกกับการได้อ่านข้อมูลว่าชาวมาเลเซียผลิตขยะพลาสติกมากสุดในเอเชีย ทำให้เธอกังวล และเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่โดยการผลิตซองพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลังจากศึกษาข้อมูลนานนับปี ทีมงาน Startachi ก็หาแหล่งผลิตได้เป็นโรงงานในออสเตรเลีย และมีแผนจะเปลี่ยนมาทำงานร่วมกับโรงงานในมาเลเซีย โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา แต่ระหว่างนี้ เป้าหมายแรกที่เทวาต้องการบรรลุคือการรณรงค์ให้ธุรกิจต่าง ๆ และผู้ค้าออนไลน์ได้เปลี่ยนจากซองพลาสติกแบบเดิมเป็นซองพัสดุย่อยสลายได้ แม้จะต้องใช้เวลา แต่ในอนาคตถ้ามีผู้ใช้ซองพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่า ที่มา : https://vulcanpost.com/736775/startpack-eco-friendly-e-commerce-parcel-packaging-malaysia/ https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/7755.html
20 มิ.ย. 2022
ทะยานสู่ยูนิคอร์น! Darwinbox แพลตฟอร์ม HR ที่ให้บริการยูนิคอร์นกว่า 30 แห่งทั่วเอเชีย
เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) เดินหน้าลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี และสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประกาศร่วมลงทุนต่อเนื่องใน Series D ใน “Darwinbox” แพลตฟอร์มที่นำเทคโนโลยีระบบคลาวด์เบส (cloud-based) ในรูปแบบ HR SaaS (Software as a Service) มาใช้ในการให้บริหารจัดการทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรอย่างครบวงจร ร่วมกับกลุ่มนักลงทุนชั้นนำระดับโลก นำโดย Technology Crossover Ventures (TCV) พร้อมด้วยนักลงทุนที่ลงทุนต่อเนื่องจากรอบที่แล้ว อาทิ Salesforce Ventures, Sequoia India, Lightspeed India, 3One4Capital และ JGDev ทำให้มูลค่าเงินระดมทุนทั้งหมดจากการระดมทุนทุกรอบรวมกันมากกว่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการระดมทุนใน ครั้งนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม เสริมความแข็งแกร่งให้กับการบริการ รวมถึงขยายทีมงานเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้นำในตลาดเอเชีย ส่งผลให้ตอนนี้มูลค่าบริษัทพุ่งทะยานกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ก้าวขึ้นเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวล่าสุด นับตั้งแต่การระดมทุนรอบก่อนซึ่งนำโดย Salesforce Ventures เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการเติบโตกว่า 300% ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย มุขยา พานิช Chief Venture and Investment Officer บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X) กล่าวว่า “ตั้งแต่ SCB 10X ได้ร่วมลงทุนในรอบ Series C ของ Darwinbox ร่วมกับนักลงทุนชั้นนำระดับโลกเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา Darwinbox ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการกับแพลตฟอร์มที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า นอกจากนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทก็อยู่ในเกณฑ์ที่ยอดเยี่ยม SCB 10X จึงรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่จะได้ร่วมสนับสนุน Darwinbox ต่อเนื่องในSeries D เพื่อนำเทคโนโลยีอันทันสมัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล มาช่วยให้องค์กรต่าง ๆ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีได้อย่างทันท่วงที” Darwinbox ก่อตั้งเมื่อปลายปีพ.ศ. 2558 เป็นแพลตฟอร์มด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Capital Management หรือ HCM) ที่มีการนำเทคโนโลยีทางด้านการเงินมาเป็นส่วนเพิ่มเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการข้อมูลที่สำคัญของพนักงานได้รอบด้านผ่านมือถือสมาร์ทโฟน ซึ่งครอบคลุมทุกความต้องการด้าน HR ตั้งแต่ Recruitment, Rewards & Recognition, Employee Engagement, Employee Financial และสวัสดิการ สามารถเชื่อมโยงกับ application อื่นๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานขององค์กรและพนักงาน เช่น เชื่อมโยงกับ application ประกันสุขภาพ รวมถึง People Analytics เป็นต้น ขณะนี้ Darwinbox ให้บริการด้าน HR ในรูปแบบดิจิทัลแก่พนักงานกว่า 1.5 ล้านคน ในองค์กรกว่า 650 แห่งทั่วโลก โดยมีแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่มีสำนักงานในภูมิภาคเอเชียใช้บริการ เช่น Starbucks, Dominos, Sephora, AXA, Tokio และ Cigna รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ ได้แก่ JG Summit Holdings, Indorama, Salim, Djarum และ Century Pacific Groups อีกทั้งยังให้บริการแก่บริษัทยูนิคอร์นทั่วเอเชียกว่า 30 แห่ง เช่น Tokopedia, Zalora, Zilingo, Carousell และ Kopi Kenangan นอกจากนี้ Darwinbox ยังได้เริ่มให้บริการแก่องค์กรชั้นนำในประเทศไทยแล้ว ได้แก่ SCB 10X, Harrow International School, Bitkub เป็นต้น Darwinbox ถือเป็นบริษัทที่มีอายุน้อยที่สุดและเป็นบริษัทเดียวในเอเชียที่ให้บริการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลกับองค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 1000 คน อีกทั้งยังได้คะแนนสูงสุด (4.8 คะแนน) จากการรีวิวของลูกค้าบนแพลตฟอร์ม Gartner’s Peer insights นำบริษัทผู้ให้บริการรายใหญ่ อย่าง SAP, Oracle และ Workday เจสสิก้า นีล (Jessica Neal) Venture Partner บริษัท Technology Crossover Ventures (TCV) เป็นบริษัทบริหารจัดการลงทุน Venture Capital ที่มีชื่อเสียงจากการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี อย่างเช่น Facebook, Spotify, Airbnb, GoDaddy, Netflix and Zillow และเป็นอดีต Chief Human Resources Officer (CHRO) บริษัท Netflix กล่าวว่า “เนื่องจากรูปแบบการทำงานในแต่ละองค์กรได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา Darwinbox ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ใช้งานง่าย มีความเข้าใจลูกค้า และสามารถปรับเปลี่ยนตามการใช้งานของลูกค้า ทำให้ Darwinbox กลายเป็นแพลตฟอร์มด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่บริษัทชั้นนำเลือกใช้ TCV จึงรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุน Darwinbox ให้เป็นผู้นำในการให้บริการแพลตฟอร์ม HCM แห่งหนึ่งของโลก” จายันท์ พาเลตี (Jayant Paleti) ผู้ร่วมก่อตั้ง Darwinbox กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการปรับตัวสูงในการรับเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการทำงาน ด้วยจำนวนการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สูงและคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ทำให้เราได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าผู้ใช้งานในประเทศไทย และเนื่องด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก SCB 10X และ TCV เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการบริการทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยเราจะเดินหน้าอย่างจริงจังเพื่อขยายทีมงานในประเทศไทย” การระดมทุนครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขยายการให้บริการของ Darwinbox ไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลก โดยจะส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการให้บริการ การพัฒนาเชิงวิศวกรรม ตลอดจนขยายทีมงานเพื่อให้บริการลูกค้าจากหลากหลายภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มทีมงานเป็นสามเท่าภายในหนึ่งปี และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานมากกว่า 100 คน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมสำนักงานในสิงคโปร์ กรุงเทพฯ มะนิลา และจาการ์ตา ชัยทันยา เพดดี (Chaitanya Peddi) ผู้ร่วมก่อตั้งและ Product Head ของ Darwinbox กล่าวเสริมว่า “Darwinbox ให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์การทำงานที่และมีประสิทธิภาพให้กับพนักงานในองค์กรของลูกค้าของเรา เราจึงลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าพนักงานในองค์กรสามารถทำงานแบบ work-from-anywhere ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ติดขัด นอกจากนี้ แผนในปีนี้ยังรวมถึงการเพิ่มการให้บริการและ Solutions แก่ลูกค้าองค์กร เพื่อรองรับการบูรณาการเชื่อมต่อเทคโนโลยี (Plug and Play) ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลระหว่างองค์กรลูกค้ากับระบบของ Darwinbox ให้เพิ่มมากขึ้น” ปี 2564 เป็นปีที่สะท้อนให้เห็นความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการทำงานของหลายองค์กรทั่วโลก ผู้บริหารหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรบุคคลมากขึ้น เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์ รวมถึงเพื่อให้พนักงานยังมีกำลังใจและมีความสุขกับการทำงานไม่ว่าจะทำงานจากที่ไหนก็ตาม (Work-from-anywhere) เช่นเดียวกับ Darwinbox ที่เล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ครอบคลุมทุกความต้องการด้าน HR เพื่อช่วยให้องค์กรกว่า 650 องค์กรสามารถดูแลบุคลากรของตนได้อย่างต่อเนื่อง ที่มา : www.smethailandclub.com https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/7766.html
19 มิ.ย. 2022