โทรศัพท์ 1358
Advanced Search

Category
ทำความรู้จัก "พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์" ขายแบบนี้ ต้องเสียภาษีแบบไหน?
ปัจจุบันการขายของออนไลน์กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการสร้างรายได้ที่ได้รับความนิยมจากผู้คนสมัยนี้เป็นอย่างมากทั้งทำเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลัก ให้สามารถเลี้ยงชีพได้ในยุคสมัยที่มีความไม่แน่นอนอยู่รอบตัว ข้อดีของการขายของออนไลน์ คือการมีต้นทุนที่ไม่สูงนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการมีหน้าร้านที่ต้องเสียค่าเช่าที่, ค่าคนงาน ตลอดจนการมองหาทำเลที่ต้องมีผู้คนพลุกพล่านเพื่อลดความเสี่ยงว่าสินค้าที่ขายจะไม่เจ๊ง แตกต่างจากการขายของออนไลน์ที่ไม่ต้องใช้เงินทุนในเรื่องการจัดการมากนัก เพียงแค่ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย, เว็บไซต์ และแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสก็สามารถดำเนินการได้แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ประกอบการหลายรายประสบความสำเร็จจากการขายของออนไลน์ที่ทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัว ยกระดับฐานะขึ้นมาได้ ดังนั้น อาชีพขายของออนไลน์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าการขายของออนไลน์จะมีรายได้ดี แต่ผู้ที่สนใจอยากจะเข้ามาทำธุรกิจนี้จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของ "ภาษี" เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมาภายหลัง หากปฏิบัติตามกติกาไม่ถูกต้อง และอาจถูกเก็บภาษีย้อนหลัง ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีแบบไหน สำหรับผู้ที่ขายของออนไลน์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบของบริษัท จะชำระภาษีในรูปแบบของเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะถูกจัดอยู่ในประเภท 8 คือเงินได้จากการค้าขาย ซึ่งระยะเวลาการยื่นภาษีจะมี 2 ช่วงด้วยกัน คือ 1.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 (ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.) 2.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 (ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.) หลักการคำนวณภาษี (รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย โดยอัตราการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเป็นหลักเกณฑ์ของเงินได้สุทธิต่อปี ทำความรู้จัก พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ผู้ประกอบการอาจมีความกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ที่ประกาศให้สถาบันการเงินส่งรายงานธุรกรรมให้กับกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่มีรายได้ ซึ่งมีร้านค้าออนไลน์อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่จะถูกบังคับใช้ด้วย การตรวจสอบที่เกิดขึ้นเพื่อให้กรมสรรพากรมีข้อมูลที่จะใช้ในการจัดเก็บภาษีที่แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยข้อมูลที่ได้รับจะเป็น ชื่อ-นามสกุล, เลขประจำตัวประชาชน, เลขที่บัญชีเงินฝาก, การฝากหรือโอนเงิน, จำนวนครั้งของการฝากหรือโอนรับเงิน สำหรับหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ มีดังต่อไปนี้ 1.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี หากเกินจะโดนตรวจสอบ ไม่ว่ามูลค่าเงินจะโอนมาก-น้อย แค่ไหนก็ตาม 2.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาท/ปี ขึ้นไป จะต้องโดนตรวจสอบ นั่นหมายความว่า หากผู้ประกอบการไม่เข้าเกณฑ์ที่กล่าวไปข้างต้นก็จะไม่โดนตรวจสอบ แต่ควรจะยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหากมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาท/ขึ้นไป ก็จะเสียภาษีตามอัตราของรายได้ที่กำหนด และหากมีรายได้มากกว้า 1.8 ล้านบาท/ปี จะต้องโดนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ที่มา: กรมสรรพากร
12 ม.ค. 2021
เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีโครงการ ”เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย” เพื่อให้ความช่วยเหลือราษฎรและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ได้มีโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อนำเงินทุนไปเริ่มต้นธุรกิจใหม่ หรือขยายการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรม 7 ประเภทที่สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ ดังนี้ 1.อาหาร 2.เครื่องดื่ม 3. ผ้าและเครื่องแต่งกาย 4. ของใช้และเครื่องประดับตกแต่ง 5. ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึกที่สะท้อนวิถีชีวิตภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น 6. สมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร และ 7. อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนเกื้อกูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs ใน 6 อุตสาหกรรมข้างต้น นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปแบบกลางน้ำ และ Food Truck ภาคการผลิต ที่ผ่านโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
10 ม.ค. 2021
ครม.อนุมัติขยายเวลาบังคับใช้การแสดงรายละเอียดบนเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ออกไปอีก 180 วัน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา มีการพิจารณาเรื่อง ร่างกฎกระทรวง กำหนดลักษณะ การทำ วิธีแสดง และการใช้เครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 2563 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ขยายระยะเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 180 วันทั้งนี้ ตามที่ได้มีกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ การทำ วิธีแสดง และการใช้เครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 และจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 21 มกราคม 2564โดยมาตรา 5 วรรคท้าย แห่งกฎกระทรวงฯ บัญญัติให้การแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องหมายมาตรฐานรวมทั้งใบอนุญาตและข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (QR Code) ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยได้มีหนังสือถึง อก. เพื่อขอให้ อก.พิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าวออกไปอีก 6 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาในการเตรียมความพร้อมได้มากยิ่งขึ้นเนื่องจากการแสดงใบอนุญาตและข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (QR Code) ตามที่กำหนดในข้อ 5 วรรคท้ายของกฎกระทรวงดังกล่าว มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในหลายผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดได้ เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต และการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง เป็นต้นอย่างไรก็ตาม ทาง อก.โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพิจารณาแล้วเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถเตรียมความพร้อมในการดำเนินการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับใบอนุญาตและข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (QR Code) ได้อย่างมีประสิทธิภาพอก.จึงได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ การทำ วิธีแสดง และการใช้เครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดลักษณะ การทำ วิธีแสดง และการใช้เครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2563 เฉพาะการแสดงรายละเอียดใบอนุญาตและข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 5 วรรคสุดท้าย ออกไปอีกหนึ่งร้อยแปดสิบวันทั้งนี้ เมื่อครบกำหนด ผู้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร จะต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องหมายมาตรฐาน รวมทั้งใบอนุญาตและข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (QR Code) ให้เห็นได้ง่ายและชัดเจนบนผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือสิ่งบรรจุ หีบห่อ สิ่งหุ้มห่อ หรือสิ่งผูกมัด อ้างอิง https://mgronline.com/smes/detail/9640000001169
10 ม.ค. 2021
Bluebik มอง Covid-19 เร่งธุรกิจเปิดรับการผสานเทคโนโลยีหลายประเภท (Technology Convergence)
บลูบิค (Bluebik) เผย สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจต้องเปิดรับการผสมผสานเทคโนโลยีหลายประเภท (Technology Convergence) เข้ามาปรับใช้กับองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเทคโนโลยีเดิมรวมทั้งเสริมศักยภาพในการบริหารธุรกิจท่ามกลางวิกฤต และช่วยเปิดทางสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยีประเภทเดียว ไม่สามารถตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคและโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมแนะองค์กรพัฒนาบุคลากรปรับมุมมองให้พร้อมที่จะเปิดรับ-คิดค้น-ทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เปิดเผยว่า วิกฤตโควิดระบาดระลอกใหม่ กำลังเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจต้องหาทางนำการผสมผสานเทคโนโลยีพื้นฐาน (Technology Convergence) มาประยุกต์ใช้กับองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลายประเภท ช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง วิเคราะห์ข้อมูล และประสานงานระหว่างหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ทำให้ธุรกิจประเมินสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น "วิกฤตโควิดสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีประเภทเดียวในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อการพาองค์กรให้รอดพ้นสถานการณ์วิกฤต โดยองค์กรต้องผสมผสานเทคโนโลยีหลายประเภทให้สามารถดูแลจัดการอย่างรอบด้าน ทั้งในแง่การดูแลความปลอดภัยของพนักงาน กระบวนการดำเนินงาน การประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจเพื่อเตรียมรับมือเหตุไม่คาดฝัน" นายพชรกล่าว จากสถานการณ์โควิดระบาดระลอกใหม่ องค์กรสามารถนำ Internet of Behaviors (IoB) ซึ่งเป็นการผสานรวมเทคโนโลยีบ่งชี้ตัวตนไว้ด้วยกัน เช่น การจดจำใบหน้า ติดตามตำแหน่ง และ Big Data Analytics ไปปรับใช้ในการตรวจจับอุณหภูมิ หรือวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อช่วยประเมินมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงาน ขณะที่การสร้าง Total Experience ซึ่งเป็นการรวบรวมประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) ประสบการณ์ของพนักงาน (Employee Experience) และประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ผ่านเทคโนโลยี Touchless Interface เช่น การสร้างโมบายแอปพลิเคชันนัดหมายลูกค้าผ่านสมาร์ทโฟน มีระบบเช็กอินได้อัตโนมัติเมื่อลูกค้ามาถึง และส่งข้อความแจ้งพนักงานเพื่อให้พูดคุยกับลูกค้า จะสามารถช่วยลดการสัมผัส เพิ่มความคล่องตัวและความปลอดภัยในการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า สำหรับในส่วนกระบวนการทำงาน การผสมผสานเทคโนโลยีคลาวด์และสถาปัตยกรรมแบบกระจาย (Distributed architecture) เข้ากับระบบการปฏิบัติงานขององค์กร จะทำให้การทำงานสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมรองรับการขยายได้ทุกเมื่อ โดยที่ยังคงความปลอดภัยไว้อยู่ ขณะที่การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ธุรกิจ การนำเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) มาผสมผสานกับเครื่องมือการทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation tools) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ข้อมูลเพื่อช่วยตัดสินใจทางธุรกิจให้เป็นไปแบบอัตโนมัติยิ่งขึ้น ส่วนการผสมผสาน DataOps และ MLOps ทำให้การใช้ Machine Learning ในธุรกิจเกิดขึ้นได้จริงและสามารถวัดผลได้ และช่วยเสริมขีดความสามารถของ Machine Learning ในกระบวนการทางธุรกิจได้ นอกจากการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารงานเพื่อผ่านพ้นวิกฤต การผสมผสานเทคโนโลยียังสร้างการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยที่ธุรกิจไม่จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา เนื่องจากจะสร้างรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ (Use Case) หรือเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เช่นกัน โดยการผสมผสานเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของธุรกิจในอนาคต นำมาซึ่งการเติบโตของผลกำไร และเปิดทางไปสู่การสร้างสินค้าหรือบริการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับเป็นการเพิ่มคุณค่าที่จะส่งมอบให้กับลูกค้า สำหรับเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีการนำมาใช้งานผสมผสานกัน ได้แก่ 1.AR / VR และ 5GAR / VR เป็นเทคโนโลยีที่มีการผสมผสานโลกจริงและโลกเสมือนด้วยการใช้ระบบซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้ใช้งาน และทำให้เกิดการตอบสนองต่อสิ่งจำลองนั้น ซึ่งถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในธุรกิจ ส่วน 5G เป็นเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายที่ถูกนำมาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยสามารถสั่งงานและควบคุมสิ่งต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ เนื่องจากมีความหน่วงที่ต่ำ ตอบสนองได้ไวถึง 1 ส่วนพันวินาที เนื่องจากมีความหน่วงที่ต่ำ ตอบสนองได้ไวถึง 1 ส่วนพันวินาที สามารถรองรับการรับ - ส่งข้อมูลได้มากกว่าและรวดเร็วกว่าเทคโนโลยี 4G ถึง 10 เท่า รวมถึงมีความทนทานต่อความเสียหายทางโครงข่าย (Network Fault Tolerance) มากกว่า 4G ตัวอย่างน่าสนใจในการนำ AR / VR และ 5G มาใช้ผสมผสานกัน เช่น ในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ใช้สำหรับการผ่าตัดทางไกล ช่วยให้การผ่าตัดทำได้อย่างแม่นยำและช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ AR/VR ยังนำไปผนวกกับ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล ทำให้กระบวนการตรวจรักษาและวินิจฉัยโรคของแพทย์เป็นไปอย่างเสมือนจริงยิ่งขึ้น 2.AI / Machine Learning (ML) และ Cloud ComputingAI คือชุดของโค้ด เทคนิค หรืออัลกอริทึม ที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเลียนแบบ พัฒนาและแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ได้ โดยจะมีหน่วย ML ซึ่งทำการฝึกให้อัลกอริทึมได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และตัดสินใจจากข้อมูลด้วยตนเอง ส่วน Cloud Computing คือระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลระบบสารสนเทศบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถดึงข้อมูลออกมาใช้งานได้ตลอดเวลาผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สำหรับการนำ AI / Machine Learning (ML) และ Cloud Computing สามารถปรับใช้ได้กับหลากหลายภาคอุตสาหกรรม โดย AI สามารถเข้าไปดูแลจัดการระบบกระบวนการทำงานของธุรกิจและช่วยประมวลผลข้อมูล ทำให้ข้อมูลในระบบอัพเดทได้แบบเรียลไทม์ ง่ายต่อการนำไปใช้งานและประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจได้ดีขึ้น 3.Data Science และ Predictive Analyticsวิทยาการข้อมูล (Data Science) คือกระบวนการหาองค์ความรู้ใหม่จากข้อมูลมหาศาล เพื่อใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าต่อธุรกิจหรือองค์กร ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Predictive Analytics) เป็นนำข้อมูลมาใช้ทำนายพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นจะในอนาคต จากการนำข้อมูลย้อนหลังมาประเมินความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยในการตัดสินใจในทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ผ่านการนำเทคนิคหลายๆ ด้านประกอบกัน เช่น หลักสถิติ การทำโมเดลวิเคราะห์ AI/Machine Learning (ML) และการทำเหมืองข้อมูล โดยปัจจุบัน Data Science และ Predictive Analytics มีการนำไปใช้งานในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น ค้าปลีก การผลิต ประกันภัย ธนาคาร บริการทางสาธารณสุขและบริการสาธารณูปโภค เป็นต้น 4.Blockchainบล็อกเชน (Blockchain) คือระบบโครงข่ายการเก็บข้อมูล (Database) แบบหนึ่ง มีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุม ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงและแชร์ข้อมูลดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องดำเนินการผ่านตัวกลาง ทำให้การทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และเชื่อถือได้ สำหรับตัวอย่างการใช้ประยุกต์ใช้บล็อกเชนที่เห็นได้ชัดคือในภาคอุตสาหกรรมการเงิน-ธนาคาร ที่ผสมผสานบล็อกเชนเข้ากับ AI ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance) และมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ระบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในกระบวนการซื้อขายและทำธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์ โดยเมื่อขั้นตอนการดำเนินงานลดลง ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลดลงตามไปด้วย อีกทั้งการตัดตัวกลางออกจากระบบยังช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เชื่อมั่นในตัวกลางของผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ นายพชร ระบุว่า ธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการลงทุนเทคโนโลยีหลายอย่างพร้อมๆ กัน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรับมือกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีขององค์กร ดังนี้ ตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจ บุคลากรทุกฝ่ายในองค์กรต้องรับทราบและตระหนักถึงต้นตอของปัญหาที่ทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดภาวะคอขวด (Bottleneck) หรือเติบโตช้า เพื่อให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและตรงจุด บุคลากรทุกคนต้องมีความเป็น R&D ในตนเอง คือมีทัศนคติที่พร้อมจะคิดค้นและทดลองสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ว่าแต่ละเทคโนโลยีมีจุดเด่น - จุดด้อยอย่างไร และเกิดการจินตนาการว่าการจับคู่ของเทคโนโลยีใดมีโอกาสทำให้ธุรกิจเกิด Use Case ใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า และประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ริเริ่มวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดโอกาสให้เกิดการทดลอง (Culture of Experimentation) เพื่อสร้างบรรยากาศในการคิดวิเคราะห์เชิงสร้างสรรค์ เกิดการลองผิดลองถูก และพร้อมที่จะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรได้นำเสนอความคิดด้านการปรับใช้เทคโนโลยีที่มีส่วนต่อการพัฒนาธุรกิจ "บทเรียนสำคัญของภาคธุรกิจคงต้องเริ่มจากการปรับมุมมองว่าเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว ก็สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงและช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจได้ แต่ต้องยอมรับว่าการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและการทำความเข้าใจเทคโนโลยีหลากหลายประเภทในเวลาสั้นๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น 'บลูบิค' ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี ที่จะช่วยมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ และให้คำแนะนำด้านการลงทุนพัฒนาระบบหรือแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด นับเป็นทางลัดสำหรับธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรและสร้างการเติบโตด้วยเทคโนโลยี" นายพชร ทิ้งท้าย อ้างอิง https://www.ryt9.com/s/prg/3189662
09 ม.ค. 2021
SMEs ต้องชนะ...จัดสรร ค้ำฯ สินเชื่อ 100,000 ล้านบาท “บสย. SMEs ไทย สู้ภัย COVID-19” เปิดตัว 6 โครงการ กลุ่มเปราะบาง - SMEs ทั่วไป สถาบันการเงินตบเท้า ลงนาม ปล่อยสินเชื่อ
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. เปิด 6 โครงการ วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวมกว่า 100,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเปราะบาง และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป คาดช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้กว่า 1 แสนราย ซึ่งโครงการดังกล่าวแบ่งวงเงินมาจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS9) จำนวน 40,000 ล้านบาท และวงเงินจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. Micro ต้องชนะ (Micro 4) จำนวน 8,000 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด รอบ 2 รักษ์ วรกิจโภคาทร “โควิดกลับมาระบาดรอบ 2 เราจึงมีการปรับแผนทำผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดขึ้น เพราะผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน และ บสย. มีการดูผลกระทบรายเดือน จึงเชื่อว่าในเดือนม.ค.64 จะสามารถเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการได้อย่างเพียงพอ เพราะที่ผ่านมาในยามมีวิกฤต บสย.จะค้ำประกันได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท โดยวงเงินที่แบ่งมาจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 จำนวน 40,000 ล้านบาท ก็คาดว่าจะสามารถดูแลเอสเอ็มอีได้นานกว่า 4-5 เดือน ซึ่งหากไม่พอเราก็ยังมีวงเงินเหลือในส่วนของ PGS9 อีกกว่า 1 แสนล้านบาท ที่เตรียมไว้” สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ 6 โครงการนั้น แบ่งเป็น 2 โครงการ ที่ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเปราะบาง สู้ภัยโควิด ประกอบด้วย 1.โครงการ บสย. เอสเอ็มอีไทย สู้ภัยโควิด ซึ่งจะฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรายละ 200,000 บาท -20 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท และ MAX CLAIM สูงสุด 35% ส่วนโครงการที่ 2 คือ บสย. รายย่อยไทย สู้ภัยโควิด ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อราย 10,000-100,000 บาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท MAX CLAIM สูงสุด 40% โดยที่ผ่านมา บสย. ให้ MAX CLAIM สูงสุดอยู่ที่ 25-30% แต่เมื่อโควิดกลับมา จึงเพิ่มเสื้อเกาะให้ผู้ประกอบการ โดยขยาย MAX CLAIM สูงสุดถึง 40% เพื่อให้สามารถดูดพิษหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ขณะที่โครงการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไปจะมี 4 โครงการ โดยจะฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อ 10 ปี ประกอบด้วย 1.โครงการ บสย. เอสเอ็มอี ดีแน่นอน วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 200,000 บาท-100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 20,000 ล้านบาท 2.โครงการ บสย. เอสเอ็มอี บัญชีเดียว วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 200,000 บาท-100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท 3.โครงการ บสย.เอสเอ็มอี ที่ได้รับสินเชื่อหนังสือค้ำประกัน (LG) วงเงินค้ำประกันต่อรายตั้งแต่ 200,000 บาท-100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 2,000 ล้านบาท 4.โครงการ บสย. รายย่อย ทั่วไป วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 10,000-500,000 บาท วงเงินจัดสรร 3,000 ล้านบาท “ทั้ง 6 โครงการนี้ บสย. จะรับความเสี่ยง ตั้งแต่ 20-40% พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการรับความเสี่ยงระหว่าง บสย. และธนาคาร เช่น เกณฑ์การเครมโดยกำหนดสัดส่วนการรับความเสี่ยงแบบร่วมกัน Sharing ระหว่าง บสย.ที่สัดส่วน 70% และธนาคาร 30% กรณีที่ธนาคารยื่นเครมก่อนระยะเวลากำหนด เพื่อให้ธนาคารได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยดูแลลูกหนี้ในด้านต่าง ๆ เช่น การปรับโครงการสร้างหนี้ จัดหนี้ หรือ ปรับปรุงเงื่อนไขให้ยืดหยุ่น” นอกจากนี้ บสย. ยังได้ร่วมค้ำประกันสินเชื่อในโครงการ Soft Loan Plus ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ค้ำประกันสินเชื่อไปแล้ว 2,000 ล้านบาท จึงมีวงเงินเหลืออยู่ 55,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ธปท. ผ่อนปรนเกณฑ์ให้เอสเอ็มอีสามารถกู้ได้ 2 ครั้ง แต่ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 จะสนับสนุนให้ บสย. สามารถค้ำประกันส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บสย. ยังมีโครงการ บสย. เอสเอ็มอีไทยชนะ วงเงิน 5,000 ล้านบาท
09 ม.ค. 2021
ขอเชิญองค์กรร่วมคว้าโอกาสครั้งสำคัญ สู่เส้นทางแห่งความเป็นเลิศกับ “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2564” เปิดรับสมัครขอรับรางวัลแล้ววันนี้
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะของสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ขอเชิญองค์กรที่สนใจเข้าร่วมสมัครขอรับ “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2564” รางวัลอันทรงเกียรติที่แสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการขององค์กรที่เป็นเลิศ และเปี่ยมด้วยศักยภาพทัดเทียมมาตรฐานโลก สร้างความภาคภูมิใจในการเป็นองค์กรคุณภาพ ทั้งนี้ องค์กรที่ได้รับรางวัลยังได้ร่วมเป็นผู้นำในการส่งเสริม แบ่งปันวิธีปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแก่องค์กรอื่น ๆ และพร้อมยืนหยัดเป็นกำลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปในอนาคต . สำหรับองค์กรที่สนใจสามารถยื่นใบรับรองคุณสมบัติองค์กร ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม - 1 มีนาคม 2564 ผ่านเว็บไซต์ https://www.tqa.or.th/th/applicant/ โดยมีกำหนดส่ง Application Report ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564
08 ม.ค. 2021
ปลัด ก.อุตฯ รับมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศยิ่ง “รักษ์ทะเลยิ่งชีพ”
วันนี้ (7 มกราคม 2564) นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รับมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศยิ่ง “รักษ์ทะเลยิ่งชีพ” ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบให้เพื่อเชิดชูเกียรติสำหรับผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมานะบากบั่นอดทนและเสียสละอย่างสูง จนบังเกิดผลดีต่อส่วนรวม ในงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมี นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้แทนในการมอบ ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
07 ม.ค. 2021
รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ Creative SME ประจำปี 2564
ขั้นตอนการสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2564 ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ (Creative SME) 1. พิจารณาข้อกำหนดและคุณสมบัติทั่วไป/คุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัคร (กรณีคุณสมบัติผ่าน ให้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป) 2. ใบสมัครและแนบเอกสารประกอบการคัดเลือก (กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ชัดเจน และลงนามให้เรียบร้อย) 2.1 กรอกแบบฟอร์มใบสมัคร 2.2 เอกสารแนบ เอกสารสำเนาใบอนุญาตประประกอบการจากภาครัฐ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ - ตามทะเบียนโรงงานพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 - ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่มีประทานบัตร หรือใบอนุญาตแต่งแร่ - ตามทะเบียนผู้ผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข - ตามทะเบียนพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ - หรือใบอนุญาตประกอบการจากภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดรูปองค์กรหรือแผนภูมิขององค์กร การเข้าร่วมกิจกรรมและความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม จัดส่งทาง E-mail : creativesmeaward@gmail.com หลังจากส่งแบบฟอร์มการสมัครและเอกสารประกอบแล้วกรุณาโทรยืนยันการสมัครที่เบอร์ 061-4040302 , 02-3678386 3. เกณฑ์การพิจารณาและขั้นตอนการคัดเลือก (เพื่อเตรียมการจัดทำข้อมูลนำเสนอ) 4. จัดทำข้อมูลนำเสนอตามเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อนำเสนอ / คู่มือการจัดทำข้อมูลนำเสนอ เปิดรับสมัครวันนี้ ถึง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ทางไปรษณีย์: ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กล้วยน้ำไท) 86/6 ซอยตรีมิตร ถนนพระรามที่ 4 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110 ทาง E-mail: creativesmeaward@gmail.com ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม 0 2367 8386 / 061 4040302 Email: creativesmeaward@gmail.com
06 ม.ค. 2021
“สุริยะ เข้มสถานประกอบการ 28 จังหวัด พื้นที่เสี่ยงสูงสุด ป้องกันเฝ้าระวังโควิด – 19 บุคลากร ก.อุตฯ เหลื่อมเวลาทำงาน ปฏิบัติงานที่บ้าน ร้อยละ 50 เริ่ม 5 ม.ค. นี้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่มีการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ออกเป็นวงกว้างกระจายในหลายเขตพื้นที่ และรัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดและบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเข้าแก้ไขและระงับยับยั้งสถานการณ์ดังกล่าวด้วยมาตรการทางกฎหมาย และการขอความร่วมมือทั้งผู้ประกอบการเอกชน และประชาชน อย่างเข้มข้น นั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนมาตรการที่รัฐบาลออกมาเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กระทรวงอุตสาหกรรมได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างใกล้ชิด โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น โรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ทั้งที่อยู่ในหรือนอกนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร ผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้งเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ใน 28 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร ชลบุรี ตราด ตาก นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ระนอง ระยอง ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สระแก้ว สระบุรี อ่างทอง เป็นต้น ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าวในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสดังกล่าว ไม่ให้ติดต่อไปยังบุคคลอื่นที่อยู่ในหรือนอกโรงงาน โดยในพื้น 28 จังหวัด มีสถานประกอบการ 49,391 โรงงาน จำนวนคนงานกว่า 3,020,000 คน โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการในพื้นที่เสี่ยงสูงสุดพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 1. ปรับเวลาการปฏิบัติงานของคนงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 2. คัดกรองพนักงานทุกคน (ตรวจวัดอุณหภูมิ / ตรวจสอบประวัติการเดินทาง) 3. สุ่มตรวจหาเชื้อโควิดในพนักงาน 4. เตรียมสถานที่กักตัวผู้ที่ติดเชื้อ 5. ประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันโควิด DMHTT (Distancing / Mask Wearing / Hand Washing / Testing / Thai Cha Na) 6. ใช้แอปพลิเคชัน หมอชนะในการ Monitor ความเสี่ยงจากการติดเชื้อ และให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานติดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือติดการแถลงข่าวของรัฐบาลเพื่อปฏิบัติตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ในส่วนของบุคลากรข้าราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน ดังนี้ 1. ปรับเวลาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยการเหลื่อมเวลาเข้าปฏิบัติการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 2. Work From Home ร้อยละ 50 ของบุคลากร โดยพิจารณาให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่แต่ละส่วนงานขยับเวลาการทำงาน เพื่อลดจำนวนผู้ปฏิบัติงานและปริมาณการเดินทาง ลดความแออัดในการใช้สถานที่ด้วยการปฏิบัติงานที่บ้าน เพื่อความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้กับ การทำงาน อาทิ การประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล แอปพลิเคชันไลน์ หรืออีเมล์มาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เพื่อไม่ให้มีข้อติดขัด หรือเกิดปัญหากับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน ทั้งนี้ แม้ว่าจะปรับมาตรการในการทำงาน แต่ภารกิจในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงฯ ก็ยังจะสามารถรักษาประสิทธิภาพการทำงานให้มีความต่อเนื่อง และมุ่งหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด – 19 อย่างได้ผล 3. คัดกรองเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติงานในกระทรวงอุตสาหกรรม (ตรวจวัดอุณหภูมิ) 4. ประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันโควิด DMHTT (Distancing / Mask Wearing / Hand Washing / Testing / Thai Cha Na) 5. รณรงค์ให้ใช้ Application หมอชนะในการ Monitor ความเสี่ยงจากการติดเชื้อ "จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ของไทย ทำให้เกิดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงความจำเป็นต่อป้องกันและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีการออกประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม และหนังสือขอความร่วมมือสถานประกอบการในพื้นที่เสี่ยงสูงสุด และบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามแนวป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมเน้นย้ำการปรับมาตรการในการทำงานจะไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้" นายสุริยะ กล่าว ที่มา: สำนักบริหารกลาง...
05 ม.ค. 2021