พลิกล็อก! Oracle ชนะดีลเป็นพาร์ทเนอร์เทคฯ กับ TikTok เดินหน้าธุรกิจในสหรัฐฯ ต่อ
มีรายงานออกมาว่า Oracle กลายเป็นผู้ชนะประมูลปิดดีลเข้าซื้อกิจการของ TikTok ในสหรัฐฯ ซึ่งได้สิทธิ์ในการบริหารคลาวด์จัดเก็บข้อมูล แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดออกมาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม รายงานของ The Wall Street Journal กล่าวว่า TikTok เลือก Oracle เป็นพาร์ทเนอร์ทางเทคโนโลยี ซึ่งหมายความว่าจะไม่ได้เป็นการขายกิจการ แต่มีความร่วมมือในลักษณะสนับสนุนระบบคลาวด์สำหรับลูกค้าในสหรัฐฯ ย้อนกลับไปไม่นาน ByteDance เจ้าของ TikTok ออกมาปฏิเสธข้อเสนอของ Microsoft ที่จะเข้าซื้อกิจการในสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, แคนาดา และนิวซีแลนด์ โดยเป็น Oracle ที่เป็นฝ่ายชนะการประมูลเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ของ TikTok แทน TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอต้องพบอุปสรรคในการดำเนินกิจการในสหรัฐฯ หลังถูกกล่าวหาว่าเป็นแอปพลิเคชันที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงถูกกดดันจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี เซ็นคำสั่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2020 ห้าม ByteDance ทำธุรกิจ พร้อมทั้งเสนอให้ขายกิจการให้กับบริษัทของสหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 90 วัน สำหรับบทสรุปในเรื่องนี้ยังไม่มีการยืนยันออกมาจากบริษัทของทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใดว่าดีลที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีขอบเขตความร่วมมือ หรือขายกิจการในส่วนไหนบ้าง อีกทั้งยังต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าจะเจรจาเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วก็ตาม ที่มา: theverge, nbcnews, https://www.smartsme.co.th/content/240834
03 เม.ย. 2565
Alibaba เจรจาทุ่มงบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลงทุนใน Grab
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Alibaba กำลังเจรากับ Grab ผู้ให้บริการด้านการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเตรียมเข้าลงทุนคิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ94,000 ล้านบาท) การเดินหน้าในครั้งนี้ของ Alibaba แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีนจะระดมทุนแต่เพียงผู้เดียว และจะใช้เงินเข้าซื้อหุ้นบางส่วนที่ถูกครอบครองโดย Uber Technologies Inc อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงเป็นแค่กระแสข่าวเท่านั้น เนื่องจาก Grab ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ขณะที่ Alibaba และ Uber ก็ยังไม่ตอบสนองในเรื่องนี้แต่อย่างใด สำหรับ Uber ถูกควบรวมกิจการกับ Grab ในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2018 โดยบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นใน Grab คิดเป็นสัดส่วน 27.5% วิเคราะห์กันว่าการที่ Alibaba ทุ่มเงิน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลงทุนใน Grab ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ รองรับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะบริษัทในเครืออย่าง Lazada ที่ต้องเผชิญการแข่งขันอย่างดุเดือดจากคู่แข่งสำคัญอย่าง Shopee ของ Tencent อีกทั้ง Lazada ยังสามารถใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าของ Grab มาประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจได้อีกด้วย ทั้งนี้ Grab ถูกประเมินว่ามีมูลค่าทางตลาด 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยดำเนินธุรกิจที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น บริการทางการเงิน, ส่งอาหารแบบเดลิเวรี่ และการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่มา: bloomberg, reuters, https://www.smartsme.co.th/content/240857
02 เม.ย. 2565
รอเลย! Facebook จับมือ Ray-Ban ผลิตแว่นตาอัจฉริยะเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน
Facebook ประกาศร่วมมือกับ EssilorLuxottica เจ้าของแว่นตาแบรนด์ Ray-Ban ผลิตแว่นตาอัจฉริยะเป็นของตัวเอง เพื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Facebook กล่าวภายในงาน Facebook Connect ว่าแบรนด์แว่นตา Ray-Ban ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Facebook นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์อย่าง “แว่นตาแห่งอนาคต” ที่จะทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกเหมือนกับอยู่ในโลกความจริงสามารถเลือกดูข้อมูล หรือภาพกราฟฟิก ผ่านการเชื่อมต่อจากระบบอินเทอร์เน็ต “เรากำลังก้าวไปอีกขั้นเพื่อปูทางสู่ผลิตภัณฑ์อย่างแว่นตาอัจฉริยะที่จะสร้างมุมมองการมองโลกให้เปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงการออกแบบที่มีความดูดี ใส่เดินตามท้องถนนได้ เหล่านี้เป็นความท้ายทายของเรา” Mark Zuckerberg กล่าว ที่ผ่านมา Facebook ทำการวิจัยเพื่อดำเนินการสร้างแว่นตา AR ที่สามารถสวมใส่ และใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2018 Facebook ยืนยันว่าบริษัทจะผลิตแว่นตาเสมือนจริงขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนได้สวมใส่ ทำกิจกรรมร่วมกันในชีวิตประจำวัน ล่าสุดการดำเนินการจะก้าวไปอีกระดับ เมื่อ Facebook จับมือร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง EssilorLuxottica เจ้าของแว่นตาแบรนด์ Ray-Ban ซึ่งจะเป็นการผสมผสานของเทคโนโลยีของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต อีกทั้งในด้านการตลาดยังเป็นการรวมผู้บริโภคที่รัก และชื่นชอบแบรนด์ทั้งสองฝ่ายที่มีอยู่หลายล้านคนทั่วโลกให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นผ่านเทคโนโลยี ทั้งนี้ แว่นตาอัจฉริยะที่ทั้งสองแบรนด์จับมือร่วมกันยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ว่าจะมีคุณสมบัติที่น่าสนใจอะไรบ้าง ที่มา:dailysabah, techcrunch, https://www.smartsme.co.th/content/240922
01 เม.ย. 2565
Alibaba เปิดตัวแพลตฟอร์มผลิตเสื้อผ้าแบบครบวงจรเหมาะกับ SME ที่สั่งผลิตสินค้าไม่เยอะ
Alibaba ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซจากจีนปฏิวัติอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย เปิดตัวแพลตฟอร์มอัจฉริยะผลิตเสื้อผ้าแบบครบวงจร ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับแพลตฟอร์มอัจฉริยะผลิตเสื้อผ้าแบบครบวงจรนี้ตั้งอยู่ในโรงงานดิจิทัลซวิ่นซี ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทซวิ่นซี ดิจิทัล เทคโนโลยี ซึ่งรับหน้าที่ผลิตเสื้อผ้า โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานของวงการเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ซึ่ง Alibaba จะเข้ามาดูในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานคอมพิวเตอร์ระบบคลาวด์ และระบบอินเทอร์เน็ต ที่ทำหน้าที่จัดหาห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบบดิจิทัลครบวงจร สำหรับแพลตฟอร์มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SME สามารถสั่งผลิต และปรับแต่งสินค้าในจำนวนไม่มาก รวมถึงช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการผลิต ไม่เพียงเท่านั้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ทั้งการจัดหาทรัพยากรเรียลไทม์, วางแผนการทำงาน และขนส่งสินค้าอัตโนมัติภายในองค์กร จะช่วยให้สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตในราคาที่เหมาะสม อเลน อู่ ประธานกรรมการบริหารบริษัทซวิ่นซี ดิจิทัล เทคโนโลยีภายใต้เครืออาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่าข้อมูลถือได้ว่าเป็นแกนหลักของการผลิตรูปแบบใหม่ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกก็เป็นกุญแจสำคัญในการคว้าโอกาสของความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใน ซึ่งเป็นการปรับให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย แทนที่จะเป็นการสั่งผลิตสินค้าครั้งละจำนวนมาก การผลิตรูปแบบใหม่นี้เปลี่ยนโฉมผู้ผลิตดั้งเดิมด้วยความอัจฉริยะ และเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพื่อก้าวไปสู่รูปแบบการผลิตที่คล่องตัวมากขึ้น และอิงตามความต้องการแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ การเปิดตัวที่เกิดขึ้นได้รับความสนใจจากผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนในวงการที่เชื่อว่า นี่เป็นก้าวสำคัญของ Alibaba ในการนำอินเทอร์เน็ตมาปรับใช้กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายไปสู่ยุค “ดิจิทัล” อย่างแท้จริง ที่มา: สำนักข่าวซินหัว, https://www.smartsme.co.th/content/240981
31 มี.ค. 2565
หาก ByteDance จะขายแอปฯ TikTok บริษัทจะตั้งมูลค่าไว้เท่าไหร่
หลังจากผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และ ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TikTok ปรากฎว่า ByteDance ยินยอมให้บริษัทสหรัฐเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการซื้อกิจการ TikTok ล่าสุด สำนักข่าว Bloomberg รายงานดีลการซื้อขายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ByteDance ประเมินมูลค่าของ TikTok อยู่ที่ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย Oracle จะเข้าถือหุ้นสัดส่วน 12.5% และจะเข้าดูแลในส่วนข้อมูลผู้ใช้ชาวอเมริกันผ่านระบบคลาวด์ เพื่อดูแลในเรื่องของความปลอดภัย ส่วน Walmart จะถือหุ้นสัดส่วน 7.5% มีการประเมินกันว่าทั้งสองบริษัทจะต้องจ่ายเงินรวมกัน 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากสามารถเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันในส่วนมูลค่าของ TikTok ได้ อย่างไรก็ตามการประเมินราคาขั้นสุดท้ายยังไม่ถูกกำหนดไว้ เนื่องจากบริษัทจะต้องกำหนดโครงสร้างทางธุรกิจ และความปลอดภัยของข้อมูลก่อนถึงจะสรุปออกมาเป็นตัวเลขมูลค่าได้ ด้านโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่าตนสนับสนุนหลักการข้อตกลงให้ TikTok ดำเนินการต่อไปได้ในสหรัฐฯ เนื่องจากความขัดแย้งกับ ByteDance ได้ทุเลาลงบ้างแล้ว จากก่อนหน้านี้ที่มีการคัดค้านจากทางการสหรัฐฯ ที่แบนแอปพลิเคชันจากจีนให้ไม่สามารถดาวน์โหลดใหม่ หรืออัพเดตข้อมูลได้ ที่มา: reuters, https://www.smartsme.co.th/content/241047
30 มี.ค. 2565
ไทยเล็งตั้ง ‘สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’ ห่างกันทุก 50-70 กม. เพื่อกระตุ้นภาคการผลิต
กระทรวงพลังงานของไทยประกาศแผนการตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าห่างกันทุก 50-70 กิโลเมตร หวังกระตุ้นภาคการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2030 นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานของกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำนักงานมีแผนกลยุทธ์ เพื่อกระตุ้นการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2030 โดยการตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าห่างกันทุก 50-70 กิโลเมตร “เราตั้งเป้าหมายมียานยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนประมาณ 1.2 ล้านคันภายในปี 2030 และกำลังวางรากฐานสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และแบตเตอรี่ รวมถึงนโยบายของกระทรวงฯ ที่ต้องการลดการใช้เชื้อเพลิงและสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม” นายวัฒนพงษ์ กล่าว นายวัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า สำนักงานฯ ยังได้ศึกษากรณีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากแบตเตอรี่ยานยนต์เข้าโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศ พร้อมเสริมว่ารัฐบาลไทยจะนำร่องใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ แท็กซี่ และรถยนต์ของรัฐบาลก่อน “เมื่ออุปสงค์เพิ่ม มันจะช่วยให้บริษัทผลิตรถยนต์ บริษัทผลิตแบตเตอรี่ และบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย และเปลี่ยนไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน” นายวัฒนพงษ์ กล่าว ที่มา: สำนักข่าวซินหัว, https://www.smartsme.co.th/content/241963
29 มี.ค. 2565
Tesla พร้อมตั้งฐานผลิตในไทย ขอข้อมูลรัฐบาลเตรียมลงทุน
จัดมา! “Tesla” พร้อมตั้งฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เดินหน้าขอข้อมูลรัฐบาลเตรียมลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อ้าแขนรับ สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานข่าวที่เชื่อมโยงระหว่างยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของโลก Tesla และประเทศไทย โดยระบุว่า Tesla มีความมุ่งมั่นที่จะขยายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้นในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดี และเอื้อประโยชน์ต่อการเข้าไปลงทุน พร้อมระบุว่า “ประเทศไทย” จัดอยู่ในกลุ่มที่ Tesla ต้องการเข้ามาลงทุนในด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และยังมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน และการส่งเสริมการลงทุนมายังรัฐบาลไทยด้วย รายงานข่าวชิ้นนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 พ.ย.63 โดยนโยบายที่ Tesla สนใจคือการคาดหมายว่าจะมีแพ็กเกจลดหย่อนภาษี 8 ปี สำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ขณะที่ประชาชาติธุรกิจ รายงานบทสัมภาษณ์นายทองชัย ชวลิตพิเชษฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระบุว่า รัฐบาลไทยกำลังเตรียมการประชุมคอนเฟอเรนซ์ผ่านกับตัวแทนจาก Tesla ที่ฐานใหญ่ของพวกเขาในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ หลังจากที่ Tesla เดินหน้าขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม โดยนายทองชัย ระบุด้วยว่า รถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla เป็นที่นิยมอย่างสูงในประเทศภูมิภาคอาเซียน และหาก Tesla ลงทุนตั้งฐานการผลิตที่ประเทศไทยก็น่าจะเป็นผลดี และได้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้พุ่งเป้าส่งเสริมไปยังอุตสาหกรรมสีเขียว และรถยนต์ไฟฟ้าก็ถูกจัดอยู่ในประเภทนี้เช่นกัน เนื่องจากจะช่วยลดมลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อมจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องยนต์แบบสันดาป อีกทั้งยังได้อนุมัติโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ผลิตรถยนต์ 24 รายเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่มา: Tesmanian, https://www.smartsme.co.th/content/242178
28 มี.ค. 2565
พจนานุกรมคอลลินส์ ยก "lockdown" เป็นคำแห่งปี 2020
ประสบการร่วมคนทั้งโลก! พจนานุกรมคอลลินส์ (Collins Dictionary) ยกให้ "Lockdown" (ล็อกดาวน์) เป็นคำศัพท์แห่งปี 2020 เผย ถูกค้นหามากถึง 250,000 ครั้ง สื่อต่างประเทศรายงานข่าวที่น่าสนใจ ระบุว่า พจนานุกรมคอลลินส์ (Collins Dictionary) ยกให้ "Lockdown" (ล็อกดาวน์)เป็นคำศัพท์แห่งปี 2020 หลังจากมีการใช้งานคำนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทีมงานพจนานุกรมคคอลลินส์ ระบุว่า มีการใช้คำนี้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีผู้คนหลายจำนวนพันล้าน ที่ต้องจำกัดกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันตั้งแต่การระบาดไวรัสโควิด-19 โดยในปีนี้คำว่า “Lockdown” ถูกค้นหาราว 250,000 ครั้ง เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากเดิมที่มีจากการค้นหาเพียง 4,000 ครั้งเมื่อปี 2019 โดยพจนานุกรมคอลลินส์ ให้ความหมาย “Lockdown” ไว้ว่า “การปิดกั้น หรือการกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดในการเดินทาง การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ” ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ร่วมของผู้คนทั้งโลก เนื่องจากรัฐบาลทุกปะรเทศในการล็อกดาวน์ตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทั้งนี้ มีคำศัพท์อีก 6 คำใน 10 อันดับแรกประจำปี 2020 ของพจนานุกรมคอลลินส์ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบไปด้วย Coronavirus (โคโรนาไวรัส) Self-isolate (การกักตัวเองเมื่อสงสัยติดเชื้อ) Social Distancing (การรักษาระยะห่างทางสังคม) Furlough (การสั่งพักงานชั่วคราว) Key worker (ลูกจ้างหรือพนักงานคนสำคัญ) ที่มา : eveningexpress, collinsdictionary, https://www.smartsme.co.th/content/242342
27 มี.ค. 2565
Tesla พร้อมบุกตลาดอาเซียน ล่าสุดเตรียมปิดดีลโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในอินโดนีเซีย
ย้อนกลับไปเมื่อไม่นาน Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐฯ มีข่าวเชื่อมโยงว่าจะเข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศไทย เพื่อขยายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้นในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดี และเอื้อประโยชน์ต่อการเข้าไปลงทุน สำหรับประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ Tesla ต้องการเข้ามาลงทุนในด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และยังมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน และการส่งเสริมการลงทุนมายังรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า Tesla จะไม่ได้มองแค่การเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงในส่วนของการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในอินโดนีเซียอีกด้วย เริ่มแรก Tesla มีการพูดคุยกับรัฐบาลอินโดนีเซียถึงความเป็นไปได้ที่จะเข้าลงทุน “แร่นิกเกิล” ต่อมาได้มีการขยายการพูดคุยไปถึงขั้นการผลิตโรงงานแบตเตอรี่ โดยเหตุผลที่ทำให้ Tesla ให้ความสนใจอินโดนีเซียเป็นพิเศษ คืออินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิต “แร่นิกเกิล” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับนำมาผลิตแบตเตอรี่ สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ Joko Widodo ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ที่ระบุว่ามีการเตรียมเจรจาพูดคุยกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งอินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแร่นิกเกิลมากที่สุดในโลก และพร้อมที่จะเป็นผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในภูมิภาค หาก Tesla สามารถเข้ามาเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ จะช่วยกระตุ้นความคึกครื้นในเรื่องของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาลงทุน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงาน หลังจากต้องได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มา : https://www.smartsme.co.th/content/242443
26 มี.ค. 2565
ยังไม่จบ! Apple เริ่มย้ายฐานผลิตบางส่วนจากจีนไปเวียดนาม ลดความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้า
Foxconn เตรียมย้ายฐานผลิต iPad และ MacBook จากจีนไปยังเวียดนามตามความต้องการของ Apple เพื่อลดแรงกระทบในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน การย้ายโรงงานในครั้งนี้ของ Foxconn เป็นผลมาจากนโยบายสงครามการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้บริษัทจากสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยมุ่งเป้าไปที่การเก็บภาษีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากจีนในอตราที่สูง รวมถึงการแบนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีจากจีนด้วยเหตุผลเป็นภัยด้านความมั่นคงต่อชาติ ดังนั้น จึงทำให้ Foxconn ตัดสินใจหลีกเลี่ยงปัญหาสงครามการค้า พิจารณาย้ายฐานผลิตบางส่วนออกจากจีนไปยังประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม, เม็กซิโก และอินเดีย โดยล่าสุด Foxconn เตรียมย้ายฐานผลิตอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น iPad และ Macbook ไปยังโรงงานในจังหวัด Bac Giang ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเริ่มการผลิตได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 แถลงการณ์ของ Foxconn ระบุว่า ตามนโยบายของบริษัท และเหตุผลเรื่องความอ่อนไหวทางการค้า เราไม่สามารถแสดงแง่มุมที่มีผลต่อสินค้าได้ อีกทั้ง Apple มีความต้องการที่กระจายฐานการผลิตให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้นในประเทศอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ Foxconn ประกาศลงทุนคิดเป็นมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จัดตั้งบริษัทย่อยที่มีชื่อเรียกว่า FuKang Technology ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขยายฐานการผลิตสู่เวียดนาม สำหรับในสัญญาโรงงานนี้จะทำหน้าที่ผลิตโทรทัศน์ รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เช่น คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ อยู่ในพื้นที่เดียวกับ Sony จากญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าจะเริ่มการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2020 หรือช่วงต้นปี 2021 ทั้งนี้ การย้ายฐานผลิต iPad ไปยังเวียดนาม ถือเป็นครั้งแรกของ Foxconn ที่มีโรงงานนอกเหนือจากจีน ที่มา: channelnewsasia, https://www.smartsme.co.th/content/242640
25 มี.ค. 2565