Halodoc สตาร์ทอัพด้านสุขภาพแบบครบวงจร หมอ-ยา-ประกัน อยู่ในแอปฯ เดียว
ทุกวันนี้เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเราเองก็ไม่ค่อยอยากจะเดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาล เพราะไหนจะต้องเสียเวลารอคิวตรวจ รอคิวรับยา แล้วบางครั้งอาจจะต้องรอประกัน หากทำการรวมเอาทุกเรื่องที่ว่ามารวมเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะสามารถเรียกใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้ด้วยแล้วละก็ รับรองแจ้งเกิดได้ไม่ยาก Halodoc คือแพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลที่ประกอบด้วยแอปฯ บนสมาร์ทโฟนและเว็บไซต์ ช่วยให้คนอินโดนีเซียทั่วประเทศ สามารถปรึกษาแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมากกว่า 20,000 คนได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้ยอดการใช้งาน Halodoc พุ่งขึ้นมากถึง 2500% ในปี 2561 แสดงให้เห็นความต้องการของผู้คนจำนวนมากที่ต้องการความสะดวกสบายในการดูแลสุขภาพ นอกจากการปรึกษาผ่านแพลตฟอร์มแล้ว ลูกค้าสามารถเรียกเจ้าหน้าที่มาตรวจสุขภาพที่บ้าน หรือใช้แอปฯ สั่งซื้อยาจากร้านขายยามากกว่า 1,300 แห่งที่เข้าร่วมอยู่ในระบบ จากนั้นยาก็จะถูกจัดส่งให้ลูกค้าถึงมือภายใน 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ Halodoc ยังจับมือกับโรงพยาบาลและผู้ให้บริการสุขภาพมากกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการเข้ารับบริการจากโรงพยาบาล โดยช่วยให้ลูกค้าใช้เวลารอรับยาน้อยลง พร้อมเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์จากประกันอย่างครอบคลุม ทำให้ลูกค้าไม่ต้องใช้เงินสดในการมาโรงพยาบาล จึงไม่น่าแปลกใจที่สตาร์ทอัพอย่าง Halodoc ได้รับการระดมทุนมากถึง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการระดมทุนระดับ Series B ซึ่งเงินที่ระดมทุนได้มา จะถูกนำไปสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ร่วมกับพันธมิตรโรงพยาบาลและบริษัทประกัน พร้อมนำเสนอบริการใหม่ๆ อย่างเต็มรูปแบบในปี 2562 ไอเดียดีมาพร้อมกับการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ก็จะได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนอย่างแน่นอน ใครที่มีไอเดียดีๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ อย่ารอช้าลุกขึ้นมาทำกันเลย เพราะไม่มีเวลาไหนที่เหมาะสำหรับคนหัวคิดทันสมัยเท่ากับตอนนี้แล้ว ที่มา : www.smartsme.co.th
01 ก.พ. 2565
สตาร์ทอัพด้านสกุลเงินดิจิทัล ยอมแพ้เลิกใช้ชื่อ Alibabacoin
กลายเป็นเรื่องร้อนแรงข้ามปีเมื่อบริษัทสตาร์ทอัพด้านสกุลเงินดิจิทัลของดูไบ ที่เคยใช้ชื่อสกุลเงินดิจิทัลว่า Alibabacoin และได้ถูกบริษัท Alibaba ของจีนทำการฟ้องร้องว่า ตั้งชื่อแบบนี้มันก็เกินไปอาจจะสร้างความเข้าใจผิดและสร้างความเสียหายให้กับ Alibaba ซึ่งไม่ได้ทำการออกสกุลเงินดิจิทัลชื่อนี้แต่อย่างใด ล่าสุดหลังจากคำสั่งศาลตัดสินให้ Alibaba จากจีนเป็นฝ่ายชนะ งานนี้ก็ทำให้บริษัท Alibabacoin Foundation ต้องทำการเปลี่ยนชื่อสกุลเงินและชื่อบริษัทไปพร้อมๆ กัน โดยใช้ชื่อใหม่ว่า บริษัท ABBC Foundation และให้บริการสกุลเงินดิจิทัลชื่อว่า ABBC แทน ตามรายงานของ Cointelegraph เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วอาลีบาบาเคยฟ้อง บริษัท Alibabacoin ในตอนนั้น เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หลังจากที่มีการเสนอขายเหรียญเริ่มต้น (ICO) ในเบื้องต้นระดมทุนได้ 3.5 ล้านเหรียญ ในเดือนตุลาคมปีที่แล้วอาลีบาบาชนะคดีเบื้องต้นกับ Alibabacoin (ในเวลานั้น) ในคดีฟ้องร้องเรื่องการใช้ชื่อ อาลีบาบา ของพวกเขาในศาลแขวงสหรัฐทางตอนใต้ของนิวยอร์ก ล่าสุดรองประธานของ อาลีบาบา กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า บริษัท กำลังพิจารณาการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับซัพพลายเชนข้ามพรมแดน ต้องคอยดูกันต่อไปว่า Alibaba จะออกสกุลเงินดิจิทัลเองหรือไม่ในอนาคต ที่มา : www.smartsme.co.th
31 ม.ค. 2565
แมคโดนัลด์หวังปรับปรุงบริการของตนเองด้วยเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพ
บริษัท แมคโดนัลด์ คอร์ป ซื้อกิจการบริษัท ไดนามิก ยีลด์ ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลของอิสราเอล เพื่อพยายามปรับปรุงบริการสั่งซื้ออาหารภายในร้าน และการตลาดออนไลน์ของแมคโดนัลด์ ตามข้อตกลงที่มีการประกาศเมื่อวานนี้ แมคโดนัลด์จะจ่ายเงินมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สำหรับการซื้อกิจการไดนามิก ยีลด์ ซึ่งการทำข้อตกลงดังกล่าวนับเป็นการซื้อกิจการครั้งแรกของแมคโดนัลด์ในรอบหลายปี และเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี แมคโดนัลด์จะใช้เทคโนโลยีของไดนามิก ยีลด์ ที่จุดรับบริการด้านไดรฟ์-ทรู ซึ่งจอแสดงผลดิจิทัลจะเปลี่ยนแปลงตามแบบเรียลไทม์ตามปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพอากาศและรายการที่ลูกค้าสั่งซื้อ เช่น ในช่วงที่อากาศร้อน หน้าจอไดรฟ์-ทรู อาจส่งเสริมการขายไอศครีม โคน ของแมคโดนัลด์ การซื้อกิจการครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณความตั้งใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้นของแมคโดนัลด์ เพื่อแข่งขันในธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด ที่มา : www.smartsme.co.th
30 ม.ค. 2565
สตาร์ทอัพสุดล้ำ ใช้เทคโนโลยีชีวภาพผลิตหนังสัตว์เพื่ออุตสาหกรรม
สัตว์จะไม่ถูกฆ่าเพื่อเอาหนังมาทำกระเป๋า เสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มอีกต่อไป เพราะสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพสามารถทำการสร้างหนังชนิดต่างๆ ขึ้นมาให้อุตสาหกรรมต่างๆ เลือกใช้ได้แล้ว แน่นอนว่ามันไม่ใช่หนังเทียมอย่างที่เราเคยเห็น แต่มันคือหนังจริงๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมา ทุกวันนี้เราสร้างเนื้อสัตว์ขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องฆ่าสัตว์จริงๆ อยู่แล้ว แล้วทำไมกับหนังสัตว์เราจะทำไม่ได้ Modern Meadow สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ให้คำตอบในเรื่องนี้พวกเขาได้พัฒนาวัสดุที่เรียกว่า Zoa ขึ้นมา ซึ่งมันสามารถให้ความรู้สึกและใช้งานเหมือนหนังได้โดยไม่ต้องใช้หนังสัตว์จริงๆ Zoa ถูกสร้างขึ้นในระดับ DNA โดยมียีสต์และโปรตีนเป็นส่วนประกอบในการสร้าง มันสามารถจัดเรียงโปรตีนเพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ต้องการ สามารถออกแบบวัสดุเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานเฉพาะด้าน ที่สำคัญมันมีคุณภาพดีกว่าหนังทั่วไป เป้าหมายของ Modern Meadow คือการนำ Zoa ออกสู่ตลาดภายในปีหน้า ตอนนี้มีการเริ่มต้นทำงานกับพันธมิตรที่มีศักยภาพแล้ว และกำลังพัฒนาวัสดุที่คู่ค้าต้องการ แต่ยังไม่สามารถบอกชื่อคู่ค้าได้ในตอนนี้ นอกจากนี้บริษัทยังมองเห็นอนาคตของ Zoa ว่าคือทุกที่ที่มีการใช้หนัง ไม่ว่าจะเป็นในรถยนต์ รองเท้า และเบาะต่างๆ นี่จึงเป็นโอกาสทางการตลาดที่น่าสนใจและใหญ่มาก อย่างที่ทราบกันดีว่าหนังสังเคราะห์มีการใช้งานกันมาระยะหนึ่งแล้ว ในตลาดของรองเท้าและเครื่องแต่งกาย แต่ส่วนใหญ่จะทำมากจากโพลียูรีเทน แต่ Modern Meadow มั่นใจว่าด้วยเทคโนโลยีของพวกเขา จะสามารถสร้างความแตกต่างออกจากหนังเทียมได้ แต่คุณภาพและราคายังคงเทียบเท่าหนังแท้ได้ ที่มา : www.smartsme.co.th
29 ม.ค. 2565
เอ็นไอเอ เตรียมนำธุรกิจกลุ่ม “มาร์เทค” โชว์ศักยภาพที่เวทีระดับโลก
NIA ชี้สตาร์ทอัพกลุ่ม MarTech หรือ กลุ่มธุรกิจดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ เป็นกลุ่มที่กำลังมาแรงและน่าสนใจ พร้อมนำวงดนตรีและสตาร์ทอัพไทยโชว์ผลงานธุรกิจที่ "South by South West 2019" สหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงศักยภาพสู่สายตาชาวโลก ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ เป็นกลุ่มที่กำลังมาแรงและน่าสนใจ มีมูลค่าทางตลาดสูงถึง 478,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตถึง 6.5% หรือกว่า 500,000 ล้านบาท ในปี 2022 ซึ่งการเติบโตที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากการเข้าถึงคอนเทนต์ความบันเทิง เช่น มิวสิคสตรีมมิ่ง วิดีโอคอนเทนต์ ที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวของดิจิทัลที่ทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลากหลายรูปแบบ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การส่งเสริมสตาร์ทอัพ เป็นหนึ่งในพันธกิจที่ NIA ให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาสตาร์ทอัพไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม FinTech, TravelTech หรือ AgTech ที่กำลังเป็นที่จับตามองอยู่ในขณะนี้ และยังมีอีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มธุรกิจดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ หรือที่เรียกว่า MAR Tech ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตถึง 6.5% หรือกว่า 500,000 ล้านบาท ใน ปี 2022 ทั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของสะพานเชื่อมระหว่าง Tech Startup กับแวดวงดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ ผ่านการนำกลุ่มสตาร์ทอัพที่อยู่ในระบบนิเวศเข้ามาช่วยพัฒนา และวางแผนแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสตาร์ทอัพไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้านดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ ซึ่งนอกจากผลลัพธ์ที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมนี้โดยตรงแล้ว ยังเป็นตัวช่วยในการสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีเสน่ห์และน่าสนใจได้อีกรูปแบบหนึ่งอีกด้วย ที่มา : www.smartsme.co.th
28 ม.ค. 2565
เซเรน่า วิลเลียมส์ เปิดตัวบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ สำหรับผู้หญิง คนสีผิว และสตาร์ทอัพ
บริษัทของซุปเปอร์สตาร์นักเทนนิสใช้ชื่อตามชื่อของเธอเลยว่า Serena Ventures โดยกองทุนนี้มุ่งเน้นไปที่การให้การสนับสนุนบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นโดยผู้หญิง, คนสีผิว และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ตำนานนักเทนนิสหญิงเปิดเผยต่อสาธารณชนถึงรายละเอียดของบริษัทการลงทุนของเธอชื่อ Serena Ventures บริษัทร่วมทุนที่ได้ให้การสนับสนุนอย่างเงียบๆ ตั้งแต่ปี 2014 และได้ลงทุนในบริษัทมากกว่า 30 บริษัทแล้ว “ฉันเปิดตัว Serena Ventures โดยมีพันธกิจในการให้โอกาสผู้ก่อตั้งในหลากหลายอุตสาหกรรม” วิลเลียมส์กล่าว Serena Ventures ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้โอกาสแก่ผู้ก่อตั้งที่หลากหลาย โดยเฉพาะผู้หญิงและคนผิวสี การลงทุนจะให้ความสำคัญกับบริษัทตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น โดยจะเน้นการเสริมสร้างศักยภาพบุคคล ความคิดสร้างสรรค์และโอกาส นอกจากนี้บริษัทยังทำงานเพื่อให้คำปรึกษาผู้ก่อตั้งและผู้ประกอบการเกิดใหม่ การลงทุนที่ผ่านมาเซเรน่าเวนเจอร์ส ครอบคลุมอุตสาหกรรมจำนวนมาก รวมถึงอาหารสุขภาพ แฟชั่น และอีคอมเมิร์ซ ที่มา : www.smartsme.co.th
27 ม.ค. 2565
Room สตาร์ทอัพที่คืนความเป็นส่วนตัวให้มนุษย์เงินเดือน
เชื่อว่าคุณก็เป็นคนหนึ่งที่เคยมีปัญหาในที่ทำงาน มีบางเวลาที่คุณต้องการความเป็นส่วนตัว เราหมายถึงความเป็นส่วนตัวจริงๆ เป็นพื้นที่ที่คุณสามารถคุยโทรศัพท์เรื่องส่วนตัวได้แบบไม่ต้องเกรงใจใคร หรือต้องการความสงบเพื่อจะโฟกัสกับงานชิ้นสำคัญ สตาร์ทอัพรายนี้จะกลายเป็นทางออกของคุณ จุดเริ่มต้นของการใช้ความสะดวกสบายของพื้นที่ขนาดตู้โทรศัพท์ เพื่อคืนความเป็นส่วนตัวกับพนักงานในสำนักงาน เกิดจากความต้องการพื้นที่ส่วนตัวที่เกิดขึ้นได้ยากในพื้นที่สำนักงานแบบเปิด โดยเฉพาะเรื่องของการไม่มีที่ว่างให้รับโทรศัพท์ส่วนตัว สตาร์ทอัพรายนี้ต้องการเปลี่ยนแปลง แล้วคืนพื้นที่ส่วนตัวให้กับคนทำงาน ROOM คือบริการบูธขนาดกะทัดรัดสำหรับให้พนักงานใช้ในพื้นที่สำนักงานเปิด ใช่แล้วมันคือการคืนพื้นที่ส่วนตัวให้กับคุณ การเปิดตัวในปีที่ผ่านมา Room ก็โชคดีที่ได้ทำงานร่วมกับธุรกิจกว่า 1,000 ราย ซึ่งเป็นทั้งธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึง JPMorgan, Nike และ SalesForce ที่มีความต้องการในเรื่องนี้ ห้องถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของพนักงานทุกคน ประตูกันเสียงปิดด้วยระบบแม่เหล็ก เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวจะเปิดปิดไฟ LED และพัดลมระบายอากาศเอง สามารถติดตั้งการทำงานร่วมกับพอร์ต Ethernet และสายโทรศัพท์ มีโต๊ะทำงานอยู่ภายในเหมาะสำหรับการนั่งทำงานของคนหนึ่งคน มีผลวิจัยสนับสนุนเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ในการสำรวจร่วมกับ YouGov พบว่า 62% ของคนทำงานต้องการพื้นที่ในสำนักงานแบบปิด ในขณะที่ 24% ของคนงานบอกว่าสไตล์พื้นที่ทำงานแบบเปิดเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ สถิติอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 27 ของพนักงานออฟฟิศแบบเปิดเป็นกังวลเกี่ยวกับการแอบฟังการสนทนาของเพื่อนร่วมงาน และมีมากถึง 13% ที่คิดว่าจะลาออกจากที่ทำงานปัจจุบันเนื่องจากปัญหาความเป็นส่วนตัว รูปแบบของสำนักงานแบบเปิดอาจจะไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมเสมอไป แต่ Room เป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับทุกพื้นที่สำนักงาน ที่มา : www.smartsme.co.th
26 ม.ค. 2565
ลัคกิ้น คอฟฟี่ สตาร์ทอัพจีนรุกคืบเสนอขายหุ้น IPO ในตลาดสหรัฐ
ลัคกิ้น คอฟฟี่ (Luckin Coffee) แบรนด์กาแฟสตาร์ทอัพสัญชาติจีน ประกาศเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในวันจันทร์ตามเวลาสหรัฐ โดยวางแผนที่จะระดมทุนให้ได้ 480 ล้านดอลลาร์ในตลาดหุ้นสหรัฐ ทั้งนี้ ลัคกิ้น คอฟฟี่ จะระดมเงินทุนผ่านการเสนอขายหุ้น American Depositary Share (ADS) จำนวน 30 ล้านหุ้น ในราคา 15-17 ดอลลาร์ต่อหุ้น สำหรับลัคกิ้น คอฟฟี่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นแบรนด์คู่แข่งรายสำคัญของสตาร์บัคในจีนนั้น จะเสนอขายหุ้นภายใต้สัญลักษณ์ "LK" บนกระดาน Nasdaq เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ลัคกิ้น คอฟฟี่ ได้เสร็จสิ้นการระดมทุนในฐานะสตาร์ทอัพระดับ Series B+ คิดเป็นมูลค่ารวม 150 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มูลค่าทางตลาดของบริษัทในขณะนั้นอยู่ที่ระดับ 2.9 พันล้านดอลลาร์ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเป็นเวลา 4 เดือน หลังจากที่ลัคกิ้น คอฟฟี่ มียอดการลงทุนทั้งสิ้น 200 ล้านดอลลาร์ โดยมีบริษัท BlackRock ลงทุนมูลค่า 125 ล้านดอลลาร์ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นับตั้งแต่ลัคกิ้น คอฟฟี่ได้ก่อตั้งกิจการในปี 2560 ทางบริษัทได้ขยายกิจการอย่างรวดเร็วในปีนี้ โดยมีการเปิดสาขาใหม่ในจีนถึง 14 เมือง ส่งผลให้ร้านกาแฟของลัคกิ้น คอฟฟี่ มีอยู่ในเมืองต่างๆของจีนจำนวน 36 เมืองทั่วประเทศ ที่มา : www.smartsme.co.th
25 ม.ค. 2565
สตาร์ทอัพที่จะทำให้เราได้นั่งแท็กซี่ลอยฟ้าในราคาแท็กซี่ปกติ
สตาร์ทอัพจากเยอรมันรายนี้กำลังวางแผนเพื่อที่จะทำให้เราได้เรียกใช้แท็กซี่ลอยฟ้าผ่านทางแอปพลิเคชันในอีก 6 ปีข้างหน้า Lilium เปิดตัวต้นแบบแท็กซี่ลอยฟ้าแบบ 5 ที่นั่งที่ใช้ชื่อว่า Lilium Jet ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเมืองต่างๆ ทั่วโลกภายในปี 2568 ตัวเครื่องเจ็ตใช้พลังงานจากแบตเตอรี่สามารถเดินทางได้ไกล 300 กิโลเมตร ในการชาร์จ 60 นาที มีแผนที่จะเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเมืองต่างๆ โดยผู้โดยสารสามารถจองเครื่องจากจุดลงจอดที่ใกล้ที่สุดผ่านทางแอปฯ ในสมาร์ทโฟน Lilium ยังไม่ได้เปิดเผยว่าจะต้องเสียค่าบริการเท่าไหร่ แต่อ้างว่ามันจะเทียบได้กับราคารถแท็กซี่ทั่วไป เพราะมันถูกสร้างมาเพื่อให้คนทั่วไปได้ใช้งานกัน “เรากำลังก้าวไปอีกขั้นเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวทางอากาศในเมืองเป็นจริง เราฝันถึงโลกที่ทุกคนสามารถบินได้ทุกที่ที่ต้องการและทุกเมื่อที่พวกเขาต้องการ” สตาร์ทอัพรายนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมก่อตั้ง Skype และจาก Tencent นอกจาก Lilium แล้วยังพบว่ามีบริษัทอื่นๆ ที่กำลังทำเรื่องแท็กซี่ลอยฟ้า ไม่ว่าจะเป็น Boeing และ Rolls Royce ที่มา : www.smartsme.co.th
24 ม.ค. 2565
ระบบนำทางของรถอัจฉริยะที่เชื่อมมากกว่าสถานีชาร์จไฟฟ้า
ประสบการณ์การชาร์จพลังอันยอดเยี่ยม โซลูชั่นส์ที่บูรณาการการชาร์จพลังงานและนำทางเข้าด้วยกันแบบ Convenience Charging ที่สะดวกสุดๆ ของบ๊อช ช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าคาดคะเนพิสัยได้อย่างแม่นยำ และวางแผนเส้นทางโดยคำนวณว่าจะต้องแวะชาร์จพลังงานที่สถานีใด พร้อมให้ชาร์จไฟและชำระเงินได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ บริการใหม่ที่ช่วยหาพิกัดของบ๊อชยังช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้เวลาชาร์จพลังงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าผู้ขับอาจถึงขั้นตั้งตารอสถานีชาร์จครั้งต่อไปเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น ผู้ขับขี่สามารถใช้แพลตฟอร์มสำหรับการจองที่อยู่ในซอฟต์แวร์วางแผนเส้นทาง เพื่อจองโต๊ะร้านอาหารใกล้ๆ สถานีชาร์จโดยใช้เวลาไม่กี่วินาที ระบบนี้ยังมีฟีเจอร์พิเศษเฉพาะที่ช่วยแนะนำร้านอาหาร บาร์ หรือร้านกาแฟตามจุดหมายปลายทางใหม่ๆ โดยพิจารณาจากความชอบของผู้ขับขี่ที่เคยบันทึกเอาไว้ นอกจากนี้ ระบบ Convenience Charging ของบ๊อชยังรวมถึงบริการชาร์จพลังงานเคลื่อนที่ ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ชาร์จไฟให้รถยนต์ได้แม้ไม่ได้อยู่ใกล้สถานีชาร์จ บ๊อชสามารถผลักดันให้เกิดบริการนี้ได้จากการร่วมมือกับผู้ให้บริการภายนอก ได้แก่ กิจการ สตาร์ทอัพ Chargery ในเบอร์ลิน ซึ่งให้บริการครบวงจรในการชาร์จไฟเคลื่อนที่ โดยใช้รถจักรยานยนต์ขนส่งนำเครื่องชาร์จไปยังจุดที่รถรอรับบริการโดยตรง ที่มา : www.smartsme.co.th
23 ม.ค. 2565