หมวดหมู่
แท็ก:
อุตฯชงครม.เคาะมาตรการเสริม หนุนอุตฯเชื้อเพลิงชีวภาพ-อาหารแปรรูป
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2561 กระทรวงได้เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้พิจารณามาตรการส่งเสริม 2 อุตสาหกรรม ตามแผนพัฒนาและขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) คือ 1.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ โดยผลักดันโครงการเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) ผ่านคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้การสานพลังประชารัฐ โดยการนำของภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ยุค 4.0 คือ การทำเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farming) อาทิ การเกษตรแม่นยำสูงด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างเต็มประสิทธิภาพ และการสร้างศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio refinery Complex) เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยขณะนี้มีโครงการนำร่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการคือโครงการอุตสาหกรรมน้ำตาลครบวงจร (Sugar Complex) ที่ จ.นครสวรรค์ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio refinery) ที่ จ.ขอนแก่น รวมถึงโครงการอุตสาหกรรมแปรรูปปาล์มครบวงจร (Palm Complex) ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว 2.อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป จะเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากเดิมไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงบนฐานของนวัตกรรม ได้แก่ อาหารสุขภาพและอาหารแห่งอนาคต เช่น อาหารเชิงสุขภาพที่ปรับลดปริมาณอาหารให้เหมาะสมต่อความต้องการพลังงาน รวมถึงการยกระดับวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตยา สมุนไพร ให้มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยทั้ง 2 มาตรการข้างต้น คาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาครม.ได้อนุมัติ 2 มาตรการ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป้าหมายเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า และรักษาฐานการผลิตยานยนต์ระดับโลกให้อยู่ในประเทศไทยต่อไป โดยผลักดันให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (xEV) และการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป้าหมายภายใน 5 ปี จะมีการลงทุนขยายตัว 200,000 ล้านบาท มีการใช้หุ่นยนต์ที่ผลิตภายในเพิ่มขึ้น 50% และลดการนำเข้าหุ่นยนต์จากต่างประเทศลง 30% นายพสุ กล่าวว่า ในปี 2560 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จัดเก็บสถิติ กลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มียอดการแจ้งประกอบและขยายกิจการโรงงาน จำนวนรวม 1,487 ราย เงินลงทุน 182,577 ล้านบาท มีการจ้างใหม่ จำนวน 91,563 คน โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เงินลงทุน 92,338 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุน 41,840 ล้านบาท และอุตสาหกรรมยานยนต์ เงินลงทุน 35,804 ล้านบาท ทั้งนี้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ได้รับใบอนุญาตประกอบและขยายกิจการมากที่สุด 974 โรงงาน รองลงมา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 175 โรงงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ จำนวน 111 โรงงาน อ้างอิง แนวหน้า
04 ก.พ. 2561
กสอ.ร่วมกับ สภาอุตฯ จ.เชียงใหม่ พร้อมภาคีเครือข่าย เร่งต่อยอด SMEs เพิ่มช่องทางการตลาด ในงาน “อุตสาหกรรมแฟร์ 2018”
จ.เชียงใหม่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 - นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ”อุตสาหกรรมแฟร์ 2018” โดยมี นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ นายชนาธิป สุรชัยสิทธิกุล นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงผลิตไทย กล่าวแสดงความยินดี และนางสาวจงรักษ์ รัตนสะอาด ประธานจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ 2018 กล่าวรายงาน สำหรับการจัดงานในครั้งนี้นับเป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสการขยายช่องทางการตลาด รวมถึงเป็นเวทีเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการส่วนกลางและกลุ่มภูมิภาคอาเซียนอันจะนำไปสู่ความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในอนาคต ทั้งนี้ คาดว่าตลอดการจัดงาน 10 วัน จะสามารถสร้างมูลค่าการซื้อขายหมุนเวียนกว่า 50 ล้านบาท สำหรับภายในงานมีการนำผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการกว่า 400 บูธ มาจำหน่ายในราคาพิเศษ อาทิ ของใช้/ของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ เครื่องหนังและรองเท้า เครื่องแต่งกาย อาหารแปรรูปต่าง ๆ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-11 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ถ.ทุ่งโฮเต็ล อ.เมือง จ.เชียงใหม่ #PR.DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สล.กสอ.) : รายงาน/ภาพข่าว
02 ก.พ. 2561
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผนึกกำลังสถาบันอาหาร ผุดหลักสูตรอบรมติวเข้ม ยกระดับ SMEs สู่ตลาดโลก
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จับมือสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือการบริหารจัดการสมัยใหม่ (Advance SME Program) ประจำปี 2561 นำร่องหลักสูตรอบรม SMEs แบบครบเครื่อง ทั้งด้านทักษะการผลิต การบริหารจัดการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยปีแรกเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หวังยกระดับเป็น Smart SMEs และ Global SMEs ตั้งเป้าเกิดนวัตกรรมใหม่ 1 เรื่อง และเพิ่มมูลค่ายอดขาย หรือลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 – 5 ชี้แนวโน้มโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทย ทั้งรูปแบบสินค้า และตลาดส่งออกจะเปลี่ยนแปลงไป อาหารอนาคตหรือ Future Food มีศักยภาพสูง ไทยจะลดการพึ่งพิงตลาดเดิมนอกภูมิภาคและหันมากระจายสินค้าสู่ตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และจีนมากขึ้น.....อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม / ภาพกิจกรรม
31 ม.ค. 2561
กสอ.ชู 3 P เน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านงาน “มหกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชน”
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดกิจกรรมทดสอบตลาด ภายใต้ชื่องาน “มหกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชน” เน้นหนุนผู้ประกอบการชุมชนตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างตรงจุด ยึดหลัก “การตลาดนำการผลิต” หวังต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาด สร้างอำนาจต่อรอง และเพิ่มศักยภาพผ่านโมเดลการพัฒนา 3 P นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กสอ.ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถ และการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ภาคอุตสาหกรรมทั้งระดับ SMEs และระดับฐานราก โดยเฉพาะการขยายตลาดจากระดับภายในประเทศสู่ตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชุมชน ซึ่ง กสอ.ได้มีโครงการที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านโมเดล 3 P คือ 1.People หรือ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยเป็นการให้คำแนะนำสำหรับการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ โดยมีการแบ่งหลักสูตรที่เหมาะสม เช่น ผู้ประกอบการชุมชนคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการชุมชนก้าวสู่สังคมดิจิทัล 2.Process หรือ การพัฒนาศักยภาพในการผลิต โดยมีการแนะนำให้ความรู้สำหรับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green OTOP) รวมถึงกระบวนการผลิตที่ให้ได้สู่การรับรองมาตรฐานต่าง ๆ และ 3.Product หรือ การพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ ที่เป็นการให้คำแนะนำส่งเสริมการผลิตและการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่มาตรฐานสากล โดยการสรรหาผู้มีความชำนาญในแต่ละประเภทอุตสาหกรรมเข้าไปช่วยแนะนำการพัฒนาการผลิตให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค.....อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม /ภาพข่าว
29 ม.ค. 2561