@@@ป.เกรียบกุ้ง จุดเริ่มของธุรกิจ@@@
ผ่านมาหมดแล้วสำหรับธุรกิจในฝันของมนุษย์เงินเดือน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟสด กาแฟโบราณ ร้านชา ขายของออนไลน์ สุดท้ายมาจบที่การขายข้าวเกรียบกุ้ง แบรนด์ 'ป.เกรียบกุ้ง' ต่อยอดสู่หมอนยางพารา ขนมขบเคี้ยวจากข้าวกล้อง สร้างมิติใหม่วงการเกษตรบ้านเกิดเมืองอุบลฯ@@@ป.เกรียบกุ้ง จุดเริ่มของธุรกิจ@@@ไม่ธรรมดาจริงๆ สำหรับ “พิริยศาสตร์ ตระการจันทร์” หนุ่มต่างจังหวัดเข้ามาศึกษาต่อในเมืองหลวง เมื่อเรียนจบก็เป็นมนุษย์เงินเดือนในหลากหลายสาขาอาชีพ อย่างวงการโทรคมนาคม วงการยา รวมถึงค้าส่งและค้าปลีก กระทั่งคิดที่จะทำธุรกิจของตัวเองก็เริ่มต้นด้วยธุรกิจในฝันของใครหลายคน ด้วยการเปิดร้านกาแฟสด กาแฟโบราณ ร้านชานม รวมถึงการขายของออนไลน์ด้วยการสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ชื่อดังอาลีบาบา (Alibaba) มาขายทำกำไร แต่ทุกอย่างก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
นายพิริยศาสตร์ ตระการจันทร์ เจ้าของธุรกิจ ป.เกรียบกุ้ง
กระทั่งไปสะดุดกับข้อมูลตลาดขนมขบเคี้ยวของไทยที่มีมูลค่าสูงถึง 2.7 หมื่นล้านบาท/ปี ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ เขาจึงศึกษาผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวอย่างจริงจัง จนไปพบว่า 'ข้าวเกรียบ' เป็นสินค้าที่ทำง่าย คนในท้องถิ่นรู้จัก รับประทานได้บ่อย ขณะที่ขั้นตอนการผลิตก็ไม่ยุ่งยาก แถมยังใช้เครื่องจักรในราคาไม่แพงมากนัก“ที่ผ่านมาเราทำธุรกิจมาหลากหลายมาก เรียกได้ว่าธุรกิจในฝันของบรรดามนุษย์เงินเดือนที่อยากทำผมทำมาหมดแล้ว ทำให้รู้ว่าการทำธุรกิจไม่ง่ายเลย ซึ่งสุดท้ายกลับมาบ้านเกิด มองหาธุรกิจที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้ และสามารถใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นได้ ซึ่งข้าวเกรียบกุ้งเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ โดยการผลิตนั้นผมศึกษาจากยูทูป (youtube) ลองผิดลองถูกเองทั้งหมดจนได้สูตรที่ลงตัว และขับรถไปขายเอง ส่งตามร้านขายของชำ และร้านค้าทั่วไป จนสินค้าติดตลาดและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค”
นำเศษยางพารามาต่อยอดเป็นหมอนแฟนซี
ความกรุบกรอบ และสดใหม่ถือเป็นหัวใจหลักของขนมขบเคี้ยว ซึ่งพิริยศาสตร์ สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ทั้งหมด อาศัยความได้เปรียบในการเป็นผู้ผลิตเอง ผลิตวันต่อวัน คำนวณปริมาณการผลิตตามความต้องการของลูกค้า ไม่สต๊อกสินค้าเป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นการผลิตแบบเอสเอ็มอีซึ่งเหมาะสมกับการเริ่มต้นธุรกิจข้าวเกรียบกุ้ง
อบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ลดต้นทุนการผลิต
กระทั่งเขามีกำไรจากการขายข้าวเกรียบกุ้งมาก้อนหนึ่ง ก็นำธุรกิจเข้าสู่ระบบธนาคาร เพื่อขอสินเชื่อนำมาขยายกิจการ ซึ่ง SME Development Bank เป็นธนาคารแรกที่ให้เงินกู้ก้อนแรกจำนวน 2 แสนบาทมาต่อยอดธุรกิจ จากนั้นก็ได้เพิ่มมาอีก 8 แสนบาทนำมาต่อยอดโรงงานผลิตและเงินทุนหมุนเวียน ต่อมาเพิ่มเป็น 5 ล้านบาท ซึ่งการที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้เขาเพิ่มขึ้นเช่นนี้ถือเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้เขามุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจต่อไป เพราะนอกจากการได้รับสินเชื่อแล้ว ทางธนาคารยังช่วยเหลือด้านการตลาด เช่น การพาไปออกบูทแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ CLMV ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้รู้ว่ากลุ่มลูกค้าคือใคร
หมอนยางพาราเพื่อสุขภาพ Parato
@@@สแน็กข้าวกล้อง Jambo@@@เมื่อธุรกิจข้าวเกรียบเริ่มอยู่ตัว เขาก็ยังไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาธุรกิจ โดยมองหาวัตถุดิบในท้องถิ่นเพิ่มมูลค่า โดยเน้นไปที่สินค้าเกษตร ก็พบว่าในพื้นที่มีข้าวหักที่ไร้ค่าแต่เขากลับนำมาแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยวข้าวกล้องธัญพืชอบกรอบโดยไม่ใช้น้ำมันเอาใจคนรักสุขภาพโดยเฉพาะ ภายใต้แบรนด์ “แจมโบ้” (JAMBO) ผลิตออกมาในรูปของซีเรียลอาหารเช้า รับประทานคู่กับนม สู่สแน็กเพื่อสุขภาพ (Healthy snacks) ตอบโจทย์กระแสของการรักสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยม และสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้เกิดความหลากหลาย โดยเน้นการใช้วัตถุดิบจากแหล่งชุมชนให้เกิดประโยชน์ ทั้งข้าวปลายหัก, ข้าวกล้อง, ข้าวไรซ์เบอร์รี และเมล็ดธัญพืช
สารพัดหมอนแฟนซี
@@@หมอนสุขภาพ เพิ่มค่ายางพาราอีสาน@@@หลังจากที่นายพิริยศาสตร์มุ่งมั่นนำผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นมาเพิ่มค่า และรังสรรค์เป็นธุรกิจ เขาจึงไม่หยุดเพียงแค่ขนมขบเคี้ยว แต่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อย่าง “หมอนยางพารา” เพราะเป็นที่รู้กันว่าภาคอีสานกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่นิยมปลูกยางพารากันมากหลังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่รายได้ของเกษตรกรกลับไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการ 'แปรรูป' คือคำตอบ “ผมใช้เวลาลองผิดลองถูกในการทำหมอนยางพาราประมาณ 1 ปี เน้นที่คุณภาพ แต่ราคาย่อมเยา และที่สำคัญต้องทำให้ทุกกระบวนการผลิตชาวบ้านมีส่วนร่วม แม้กระทั่งผู้สูงอายุได้มีรายได้จากผลิตภัณฑ์นี้ สุดท้ายมาลงตัวที่แบรนด์ 'Parato' (พาราโต) หมอนยางพาราเพื่อสุขภาพ และถือเป็นรายแรกที่ทำหมอนแบบแฮนด์เมด ใช้แรงงานคนในท้องถิ่นขึ้นรูป เก็บรายละเอียด ตัดเศษยางส่วนเกิน โดยใช้วิธีอบแห้งด้วยพลังแสงอาทิตย์ 100% ด้วยโรงเรือนพาราโบลา ซึ่งข้อดีคือประหยัดต้นทุนในเรื่องเครื่องอบแห้ง ส่งผลให้สามารถขายในราคาไม่แพงและแข่งขันได้”
ไม่เพียงแต่หมอนยางพาราเท่านั้นที่เป็นการนำน้ำยางดิบมาเพิ่มมูลค่า แต่เขายังต่อยอดเป็น อาสนะรองนั่ง, หมอนแฟนซี, อุปกรณ์กายภาพบำบัดยางพารา เนื่องจากคุณสมบัติที่ดี นุ่ม ยืดหยุ่น รองรับสรีระได้ดีและออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ จึงเหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ รวมทั้งผู้ป่วย ผู้ป่วยในระยะพักฟื้น และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่าง แขนจำลองให้นักศึกษาแพทย์ศึกษาเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
นำมาต่อยอดเป็นหมอนขิดแดนอีสานยางยางพารา
“เรามองเห็นศักยภาพของตลาดสินค้าแปรรูปยางพาราที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องค่อนข้างสูง เพราะสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลากหลายนับกว่า 10,000 รายการ ซึ่งเมื่อเราผลิตสินค้าที่มีคุณภาพไม่เฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น ยังสามารถส่งสินค้าออกไปต่างประเทศได้ เช่น ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า นอกจากจะจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายในทุกจังหวัดของประเทศไทยแล้ว ยังมีแผนที่จะจัดจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น BigC, TescoLotus, Dohome ฯลฯ ซึ่งร้านค้าปลีกเหล่านี้มีสาขาตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย สามารถกระจายได้ครอบคลุมทั้งประเทศ และยังจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย
แขนเทียมจากยางพารา ใช้เพื่อการศึกษาลดการนำเข้า
ล้วงแนวคิดโตยั่งยืนกับเกษตรแปรรูป แบบฉบับ ป.เกรียบกุ้ง
เศษยางพาราที่เหลือจากการทำหมอน
นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของมนุษย์เงินเดือนที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดโดยใช้สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่าจนประสบความสำเร็จ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสินค้าเกษตรของไทยก็ไม่ด้อยกว่าชาติอื่น
เครื่องผสมน้ำยางพาราดิบ ก่อนนำมาขึ้นรูปเป็นหมอนเพื่อสุขภาพ
แม่พิมพ์หมอนยางพารา
บริเวณหน้าโรงงานผลิตข้าวเกรียบกุ้ง และหมอนยางพารา
อ้างอิง https://goo.gl/x9a6hV
03
ต.ค.
2560