หมวดหมู่
แท็ก:
ห้องน้ำแบบใหม่ที่ทำขึ้นมาเพื่อแก้ไข ปัญหาพนักงานชอบอู้ทั้งหลาย
สตาร์ทอัพในประเทศอังกฤษคิดค้นวิธีในการจัดการกับพนักงานจอมอู้ทั้งหลาย ที่ชอบเข้าไปนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือในห้องน้ำเป็นเวลานาน StandardToilet เป็นผลงานของบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศอังกฤษ ที่มาพร้อมกับแนวคิดที่ว่า อยากให้คนที่เข้าห้องน้ำรีบวางโทรศัพท์มือถือแล้วกลับไปทำงานโดยเร็ว ส่วนวิธีการนั้นก็คือห้องน้ำแบบใหม่นี้จะมีพื้นที่่ลาดเอียงไปข้างหน้า 13 องศา ซึ่งจะสร้างความไม่สบายให้กับคนที่นั่งเกิน 5 นาที แนวคิดนี้กำลังถูกถกเถียงกันมากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายเสียงบอกว่า มันก็มีพนักงานบางคนที่ชอบเข้าไปนั่งอู้งานในห้องน้ำจริง แต่ก็มีอีกหลายคนที่มีความจำเป็น หากห้องน้ำกลายเป็นที่ที่นั่งไม่สบายแล้วคนที่มีความจำเป็นต้องนั่งนาน ๆ จะมีปัญหาได้ การจะนำมาใช้ต้องคิดให้รอบคอบ และหวังว่ามันคงจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงห้องน้ำทุกแห่งให้กลายเป็นแบบนี้ สตาร์ทอัพก็ทำงานตามหน้าที่ เมื่อมีปัญหาให้แก้ไขก็ต้องมีการนำเสนอทางออกให้ ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นก็อยู่ที่ตลาดให้การยอมรับหรือไม่ เจอแบบนี้ห้องสุขาอาจจะต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ก็เป็นได้ ที่มา : www.smartsme.co.th
08 ม.ค. 2565
อาวุธ 3 ชนิด ยิง Tech Startup ให้ตรงเป้า
Tech Startup กำลังมีบทบาทสำคัญในยุคดิจิตอล2016 ซึ่งนอกจากความคิดสร้างสรรค์แล้ว เทคโนโลยียังเป็นแรงขับเคลื่อนให้ธุรกิจยุคใหม่ มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจ หรือ ธุรกิจต้นแบบ ที่แตกต่างไป มีตลาดที่ใหญ่ขึ้น และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้มากขึ้น ในวันนี้ Tech Startup ไทยกำลังเติบโต และเป็นที่จับตามองในระดับภูมิภาค ดังนั้นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรายใหม่ จำเป็นที่จะต้องใส่ใจกับรายละเอียดของกลุ่มผู้บริโภคว่าพวกเขาต้องการอะไร และเราสามารถแก้ไขปัญหาให้พวกเขาได้ตรงจุดหรือไม่ โดยจะมีหลักการที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จดังนี้ 1.เรียนรู้และพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ 2.ต้องวางแผนธุรกิจต้นแบบอย่างรอบคอบ เพื่อให้คู่ค้าทางธุรกิจและผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้าเรา 3.การสร้างความแตกต่างที่ไม่เหมือนใคร แต่สามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคได้จริง คุณวีระยุทธ เชื้อไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมธุรกิจ SME (ผ่านสื่ออนไลน์) ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ SMEs สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น Tech Startup หรือ ผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องมีแผนที่ในการเดินทาง เปรียบว่า ถ้ามีผู้ชี้แนะและให้คำปรึกษาในเรื่องการทำธุรกิจก็จะก็ไม่เกิดอุปสรรคต่างๆ หากคุณต้องการสร้างหรือต่อยอดธุรกิจให้ประสบความสำเร็จสามารถหาคำตอบได้ในงาน SMART SME EXPO 2016 ภายในงานคุณจะได้พบกับที่ปรึกษาธุรกิจ , สถาบันการเงินชั้นนำ , กิจกรรมต่างๆที่มีวิทยากรมาให้ความรู้ในการสร้างสรรค์ธุรกิจ และพบคู่ค้าธุรกิจอีกมากมาย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2559 ณ ชาเลนเจอร์ 3 อิมแพคเมืองทองธานี ที่มา : www.smartsme.co.th
07 ม.ค. 2565
ไมเนอร์ วางงบลงทุนสตาร์ทอัพ Foodtech 1,000 ล้านบาท
บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า บริษัทได้ตั้งงบลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร (Foodtech) จำนวน 1,000 ล้านบาท โดยร่วมมือกับ ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ส และ 500 TukTuks เพื่อหาผู้พัฒนา Foodtech ที่มีไอเดียน่าสนใจและนำมาต่อยอดกับธุรกิจอาหารของกลุ่มไมเนอร์ โดยเปิดกว้างให้กับสตาร์ทอัพต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจอาหารในกลุ่มไมเนอร์ บริษัทได้เห็นถึงสภาพแวดล้อมของธุรกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็ว ทำให้บริษัทต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจของบริษัท ทำให้บริษัทต้องจับมือกับนักพัฒนาและดิสรัปท์เทอร์ เพื่อค้นหาแนวทางในการช่วยสร้างการเจริญเติบโต และสานต่อการดำเนินธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะเชื่อว่าธุรกิจจะอยู่รอดจะต้องมีนวัตกรรมที่ดีและปรับตัวให้เร็วที่สุด ไมเนอร์ มองว่า Foodtech จะเป็นหนึ่งในส่วนของการต่อสู้กับ disruption ที่น่าสนใจ เพราะมีมูลค่าสูงถึง 1.6 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโต 20% ต่อปี ขณะที่คาดว่าภายในปี 65 การเติบโตของ Foodtech จะปฏิวัติและมีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ทั้งหมดของธุรกิจอาหาร ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ ไปจนถึงลูกค้า จึงนับเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยที่ได้รับการขนานนามว่า "ครัวโลก" จะได้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของธุรกิจค้าปลีกและอาหารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารมีศักยภาพในการช่วยผลักดันสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศไทยได้ ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนรายได้ของธุรกิจอาหารอยู่ที่ 38% สัดส่วนรายได้ธุรกิจโรงแรม 55% และสัดส่วนรายได้ธุรกิจจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ 7% ซึ่งการนำ Foodtech เข้ามานอกเหนือจะช่วยเพิ่มการเติบโตรายได้ของธุรกิจอาหารแล้ว อาจจะยังสามารถช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจอาหารให้มากขึ้นได้ โดยที่เบื้องต้นในปี 62 บริษัทจะใช้เงินลงทุนส่วนหนึ่งราว 100 ล้านบาท จากงบลงทุน Foodtech ที่วางไว้ 1,000 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน Foodtech ซึ่งเป็นงบลงทุนนอกเหนือจากงบลงทุนปกติที่บริษัทวางไว้ 4-5 หมี่นล้านบาท ใน 5 ปี (ปี 61-65) ที่มา : www.smartsme.co.th
06 ม.ค. 2565
อาร์เจนติน่าเลือกใช้ ระบบ AI ช่วยเรื่องกฎหมายใน 10 วินาที
สตาร์ทอัพในอาร์เจนตินาสร้าง Prometea เป็นระบบ AI ที่สั่นสะเทือนวงการนักกฎหมาย โดยทำการเรียนรู้จากข้อมูลในสำนักงานกฎหมาย จากคำพิพากษาและข้อกฎหมายจำนวน 300,000 กว่าฉบับ เก็บไว้ในฐานข้อมูลเพื่อทำการประมวล และร่างคำตัดสินเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้ ระบบปัญญาประดิษฐ์จะทำหน้าที่ในการร่างคำตัดสินของสำนักงานอัยการเขตบัวโนสไอเรสโดยไม่มีทนายความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ช่วยทำเลย แต่การนำระบบมาใช้ในเรื่องนี้เป็นเพียงในกรณีของคดีพื้นๆ อย่างเรื่องของใบขับขี่่เท่านั้น ไม่ได้นำไปใช้ในคดีที่มีความซับซ้อนอย่างคดีฆาตกรรมแต่อย่างใด ด้วยความช่วยเหลือของระบบนี้ทำให้นักกฎหมายสามารถจัดการคดีที่จากเดิมต้องใช้เวลา 6 เดือนให้เหลือเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น และจากผลงานที่ผ่านมาพบว่า ทีมงานที่ทำการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่ AI ทำขึ้นมานั้นพบว่ามีความผิดพลาดน้อยมาก ตอนนี้ระบบนี้กำลังได้รับความสนใจจาก World Bank และ Inter-American Development Bank ของสหรัฐฯ จากเดิมที่เจ้าหน้าที่ในบัวโนสไอเรสต้องยื่นเอกสารร้องเรียนเรื่องการเมาแล้วขับ ด้วยการกรอกรายละเอียด 39 เรื่อง เป็นจำนวนมากถึง 111 ครั้ง ตอนนี้พวกเขาเพียงแค่ทำการเติมข้อมูลเรื่องของอายุ ที่อยู่ และหมายเลขยานพาหนะเท่านั้น ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของระบบทั้งหมด นี่ไม่ใช่การทำงานแทนที่มนุษย์ มันเป็นการช่วยเหลืองานซ้ำๆ ที่นักกฎหมายต้องทำ เพื่อให้นักกฎหมายไปใช้เวลาและความสามารถ สำหรับคดีที่มีความซับซ้อนมากกว่านี้ ที่มา : www.smartsme.co.th
05 ม.ค. 2565
Relay ครั้งแรกของ หุ่นยนต์ บริการส่งของอัตโนมัติในไทย
"รีเลย์" (Relay) คือ หุ่นยนต์ ส่งของอัตโนมัติตัวแรกในไทย สร้างประสบการณ์ชีวิตดิจิทัลสุดล้ำเพื่อคนไทย ให้ได้สัมผัสกับหุ่นยนต์บริการที่เป็นมิตรและทำงานร่วมกับผู้คนได้อย่างชาญฉลาด ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและสร้างความประทับใจให้กับผู้คนมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก ความก้าวหน้าของการผนวกรวมเทคโนโลยีและอุปกรณ์ IoT เข้ากับหุ่นยนต์ และการดึงเอาประโยชน์สูงสุดจากทั้งสองเทคโนโลยีเข้ามาเกื้อหนุนกัน จะเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจเติบโตและสามารถสร้างสินค้าและบริการที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ต่างให้ความสนใจใช้เทคโนโลยี IoT และหุ่นยนต์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มทรู จึงนำ Relay หุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ เข้ามาให้บริการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย มุ่งเน้นตลาดลูกค้าธุรกิจ ทั้งคอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์ โรงแรม อาคารสูง โรงพยาบาล ธุรกิจโลจิสติกส์ และโรงงานผลิต เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า True IoT ยกระดับบริการ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กรธุรกิจในยุคดิจิทัล Relay robot มีการใช้งานแล้วมากกว่า 100 ตัวทั่วโลก ทำการขนส่งสำเร็จมาแล้วกว่า 350,000 ครั้ง และได้รับการยอมรับจากองค์กรธุรกิจมากมายในเรื่องเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ความฉลาดหลักแหลม ความปลอดภัย Relay robot จาก ซาวิโอ๊ก ผู้พัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติที่มีความโดดเด่นในการทำงานร่วมกับผู้คน และประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงค์โปร์ รวมถึงการออกแบบรูปลักษณ์ที่เหมาะสมและครอบคลุมต่อการใช้งานในพื้นที่ต่างๆ และที่สำคัญคือใช้งานได้จริง มั่นใจว่า ความสามารถของ Relay robot ที่แสดงความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆ ได้คล้ายคลึงกับมนุษย์ จะสร้างความประทับใจ และเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์บริการและธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่มา : www.smartsme.co.th
04 ม.ค. 2565
Airbnb รุกคืบเข้าสู่ธุรกิจการเช่าพื้นที่สำนักงาน
Airbnb สตาร์ทอัพผู้สร้างนิยามใหม่ของการจองที่พักในที่ต่างๆ โดยอาศัยการแบ่งปันห้องหรือพื้นที่ที่ว่างของคนทั่วโลก เริ่มขยายธุรกิจด้วยการเข้าซื้อกิจการของสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการเช้าห้องประชุมและสำนักงาน โดยสตาร์ทอัพที่ถูก Airbnb ซื้อกิจการนั้นชื่อว่า Gaest.com เป็นธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับการจองห้องทำงานและห้องประชุม ที่สามารถทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายวันหรือรายชั่วโมง การเข้าซื้อกิจการใหม่นี้ ส่งผลให้ Airbnb สามารถเข้าทำการแข่งขันในธุรกิจการเช่าสำนักงานขนาดใหญ่ได้ทันที นี่่คือการปรับเปลี่ยนก้าวที่สำคัญของ Airbnb โดยธุรกิจการเช่าห้องประชุมและพื้นที่สำนักงานนี้กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในการทำธุรกิจในปัจจุบัน บางครั้งงานอีเว้นท์เล็กๆ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่แสนแพงของโรงแรมใหญ่โตเสมอไป ห้องประชุมหรือห้องจัดสัมมนา มีอยู่เต็มไปหมดทุกแห่ง แน่นอนการปล่อยห้องว่างๆ เอาไว้เป็นการสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ นำมาแบ่งปันการใช้งานกันดีกว่า งานนี้เจ้าตลาดอย่าง Wework.com มีสะเทือน ที่มา : www.smartsme.co.th
03 ม.ค. 2565
กลุ่มธนาคาร ลงทุนสตาร์ทอัพเรื่อง AI Fintech และ Data Analytics
กรุงศรี ฟินโนเวต เดินหน้ายึดความเป็นผู้นำด้าน Corporate Fintech Accelerator โดยมุ่งเน้นไปในการพัฒนาสตาร์ทอัพด้าน AI, Data Analytics และ Fintech บริษัทตั้งเป้าหมายลงทุนตรง (Direct Investment) ในสตาร์ทอัพระดับ Series A และ Series B ที่มุ่งเน้นในเรื่องเทคโนโลยี AI และ Data Analytics เป็นหลัก ซึ่งมองหาโอกาสในการลงทุนทั้งกับสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน โดย Silot จะเป็นสตาร์ทอัพรายแรกที่กรุงศรี ฟินโนเวต ตัดสินใจลงทุนในปีนี้ โดย Silot เป็นสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ โดยผู้ก่อตั้งชาวจีน ซึ่งให้บริการด้านแพลตฟอร์มด้านการธนาคารแบบครบวงจร และมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี AI การลงทุนใน Silot จะเสริมสร้างและพัฒนาระบบชำระเงินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำ Corporate Fintech Accelerator ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องมาถึง 3 ปี โดยในปีที่ผ่านมาสามารถขยายขอบเขตการเปิดรับ ดึงดูดสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์และเวียดนามเข้าร่วมโครงการ ความร่วมมือและการลงมือปฏิบัติในสภาพแวดล้อมจริงส่งผลให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตในอัตราเร่งที่รวดเร็วกว่าเดิม เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการเป็นอย่างมาก ที่มา : www.smartsme.co.th
02 ม.ค. 2565
TED Fund จับมือ NIA และออมสิน จัดหนักสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสู้ภัยโควิดให้สตาร์ทอัพ
TED Fund จับมือ NIA และออมสิน จัดสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสู้ภัยโควิดให้ Startup ซึ่งอยู่ระหว่างรับทุน และไม่ได้รับทุน ปล่อยกู้สูงสุดรายละ 10-20 ล้านบาท ดอกเบี้ยเพียง 2% นายนิคม ปัญญาทวีกิจไพศาล ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เปิดเผยว่า ภายหลังจาก TED Fund ดำเนินการสนับสนุนทุนแก่กลุ่มธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ไปแล้วกว่า 200 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 325 ล้านบาท ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและตัวชี้วัด มากกว่า 40 โครงการ แต่ที่เหลือกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ สามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ TED Fund และ NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จึงได้ร่วมมือกับธนาคารออมสิน ประกาศนโยบายสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ ที่อยู่ระหว่างการรับทุนของ NIA และ TED Fund บรรเทาสภาวะทางการเงินเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 2 โครงการได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อนวัตกรรมสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุน ในวงเงินกู้สูงสุด 1.5 ล้านบาท และ โครงการสินเชื่อเพื่อนวัตกรรมสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุน วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดย TED Fund และ NIA จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นายอนุรักษ์ เสงี่ยมจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs Startup กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ กล่าวว่า ธนาคารได้รับมอบหมายให้สนับสนุน ธุรกิจ Startup และ SMEs Startup ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย ธนาคารจึงได้จัดตั้ง Venture Capital ขึ้นมาก่อนหน้านี้ จำนวน 4 กอง รวมมูลค่า 2,500 ล้านบาท รวมทั้ง Angle มูลค่า 500 ล้านบาท อีก 1 กอง เพื่อสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มนี้ ภายใต้โครงการ GSB Startup Ecosystem และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ส่วนกลุ่ม Startup ที่อยู่ในโครงการของ TED Fund และ NIA และ/หรือ ผู้ประกอบการที่เคยผ่านการคัดกรอง หรือได้รับการรับรองความเป็นนวัตกรรมจาก TED Fund และ NIA นั้น ธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อให้ “ทุกราย” ภายใต้วงเงินที่กำหนดไว้คือ สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท/ราย สำหรับ Stratup และไม่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับ SMEs Startup อัตราดอกเบี้ย 2% ในช่วง 2 ปีแรก และตั้งแต่ปีที่ 3 ขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยจะเป็น MOR ลอยตัว (MOR+2) “Startup และ SMEs Startup ที่จดทะเบียนตั้งบริษัทแล้ว ดำเนินธุรกิจแล้ว และมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงแล้วไม่เกิน 3 ปี ไม่ว่าจะได้รับทุนจาก TED Fund หรือ NIA หรือไม่ก็ตาม ทุกคนสามารถเดินเข้ามาคุยกับเราได้ เพราะเราพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกราย ส่วนที่มีผู้กังวลในเรื่องหนี้เสียนั้น เราได้มีการปรับเกณฑ์ของธนาคารให้อยู่ในลักษณะที่พอรับความเสี่ยงได้ ไว้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) เข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้ง TED Fund และ NIA ช่วยสกรีนผู้ประกอบการให้เรา ความเสี่ยงจึงน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และยอมรับได้ ประเด็นหลักในขณะนี้คือ เราต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ก่อนที่จะคิดอย่างอื่น” นายอนุรักษ์ กล่าวในที่สุด อ้างอิง: กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม https://www.smartsme.co.th/content/238138
02 ม.ค. 2565
Uber เตรียมเปิดเที่ยวบินราคา 200 ดอลลาร์ที่นิวยอร์ก
Uber เตรียมเปิดเที่ยวบินสำหรับคนในเมือง เริ่มต้นที่เส้นทางจาก Lower Manhattan ไปยัง Kennedy Airport แท็กซี่บินอัตโนมัติของ Uber ยังไม่พร้อมที่จะเปิดใช้งาน แต่มีรายงานจาก New York Times ว่าจะเริ่มมีการขนส่งทางอากาศตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม โดยจะเริ่มต้นให้บริการด้วย Uber Copter ซึ่งจะให้บริการในเมืองนิวยอร์กก่อน และเป็นสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก Uber Rewards ที่ได้รับสถานะ Platinum และ Diamond เท่านั้น โดยจะมีราคาค่าบริการอยู่ระหว่าง 200-225 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามบริการนี้จะแตกต่างจากบริการรถของ Uber เพราะมีการกำหนดเส้นทางเอาไว้ล่วงหน้าและตายตัว โดยเป็นเส้นทางระหว่างสถานที่ใกล้กับ Staten Island Ferry ในแมนฮัตตัน ไปยังสนามบิน Kennedy ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 8 นาที Uber ยังไม่ได้ประกาศว่าจะทำการให้บริการนี้แก่สาธารณชน ส่วนจำนวนของผู้โดยสารที่จะเดินทางไปกับ Uber Copter อยู่ที่ 5 คนต่อเที่ยว โดยมีนักบินจำนวน 2 คนประจำอยู่บนเครื่อง ที่มา : www.smartsme.co.th
01 ม.ค. 2565
Netflix เติบโตขึ้นมาด้วยวัฒนธรรมองค์กร “กล้าลองในสิ่งที่ผิดพลาด”
กว่าจะมาเป็นธุรกิจระดับโลกอย่างทุกวันนี้ Netflix ได้ผ่านการลองผิดลองถูกมาจำนวนนับไม่ถ้วน ใช้เวลาตั้งแต่ทำการเริ่มต้นทดสอบทางความคิดมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ต้องเจอกับอะไรมาบ้าง Mitch Lowe Co-founding Executive ของ Netflix จะมาเล่าให้ฟัง ย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นที่ Netflix พยายามหาหนทางแก้ไข Pain Point ของผู้บริโภค ในการทำให้การรับชมภาพยนตร์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และเชื่อว่าความบันเทิงกำลังจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ขีดจำกัดของการรับชมนั้นถูกขยายออกไปสู่อุปกรณ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบพกพา หรือแม้แต่ดูในโทรศัพท์มือถืออย่างทุกวันนี้ ผ่านการลองผิดลองถูกมานาน จนถึงวันที่ Netflix สามารถ Launched Streaming ได้เป็นครั้งแรกในปี 2008 ซึ่งหลังจากนั้น Netflix ยังคงพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรับชมอย่างต่อเนื่องแบบไม่สะดุด และสามารถเลือกรับชมตอนต่อไปได้ในทันที ถือเป็นความแตกต่างที่สร้างคุณค่าและได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมที่เข้าชมผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลายในทั่วทุกมุมโลก ปัจจุบัน Netflix มีผู้ติดตามอยู่ใน 130 ประเทศทั่วโลก กุญแจสู่ความสำเร็จของ Netflix มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน บุคลากร (People) เป็นทรัพยากรที่สำคัญ จะต้องเป็นผู้ที่ทำการหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อจะเป็นหนทางในการเพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง วัฒนธรรม (Culture) ที่จะส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ ซึ่งเกิดจากความชัดเจนในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายขององค์กร บุคลากรจะมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน ความเป็นผู้นำ (Leadership) กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ แล้วยังฝากข้อคิดเท่ๆ เอาไว้ปิดท้ายด้วยว่า "อย่ากลัวที่จะตัดสินใจผิด เพราะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในการสร้างนวัตกรรม คือการทำผิด" คนเราไม่มีทางที่จะทำอะไรผิดหมด เราจะต้องลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น องค์กร จะต้องสร้างวัฒนธรรมที่ให้คนกล้าลองทำในสิ่งที่ผิดพลาดได้ ที่มา : www.smartsme.co.th
31 ธ.ค. 2564