หมวดหมู่
แท็ก:
พลิกปัญหาสุขภาพเป็นธุรกิจปัง! Cocoparadise แบรนด์ขนมเฮลตี้ที่อยากให้คนกินสุขภาพดี
ที่มาในการสร้างธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป เชื่อว่ามีหลายคนเริ่มต้นธุรกิจเพราะต้องการแก้ไขปัญหาเฉพาะตัวที่กำลังประสบ เช่นเดียวกับ Cocoparadise แบรนด์สแน็คที่ทำจากมะพร้าวก็มีสตอรี่ใกล้เคียงกัน “เคยใช้ชีวิตแบบไม่ตระหนักว่ากินอะไรเข้าไป ป้อนอะไรให้ร่างกายตัวเองบ้าง กระทั่งไปตรวจสุขภาพตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 แล้วหมอเตือนว่ากำลังเข้าสู่ภาวะน้ำหนักเกิน และมีไขมันในเกาะตับสูงมาก หากไม่ดูแลร่างกายก็มีแนวโน้มจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล” เป็นคำบอกเล่าของวาเลอรี่ ชิว ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ Cocoparadise คำพูดของหมอเป็นการเตือนสติที่ทำให้วาเลอรีต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง นับตั้งแต่นั้น เธอก็เริ่มเข้าครัวเตรียมอาหารเองแบบง่าย ๆ และเริ่มเข้ายิมกำลังกาย กระทั่งมีเทรนเนอร์มาชวนฝึกบอดี้เวทและแนะนำตารางโภชนาการให้ กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้วาเลอรีสนใจเรื่อง whole food หรืออาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย เธอเริ่มหันมาบริโภคอาหารประเภทนี้ ใช้น้ำตาลจากธรรมชาติ และลดละกลูเต็น น้ำตาลฟอกขาว และผลิตภัณฑ์จากนม เมื่อกลับมาปักหลักที่ฮ่องกง วาเลอรีได้ไปออกกำลังกายที่ยิมแห่งหนึ่งซึ่งมีคาเฟ่ให้บริการจึงได้ลองทำสแน็คสูตรโฮมเมดไปวาง ปรากฎว่าขายได้ มีคนซื้อ และชมว่าอร่อย กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอตระหนักว่านี่เป็นโอกาสที่เธอจะได้ลองทำในสิ่งที่เชื่อ อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่ธุรกิจสแน็คเพื่อสุขภาพไม่ได้ง่ายดั่งปอกกล้วยเข้าปาก ต้องลองผิดลองถูกมากมาย แต่ก็ได้เรียนรู้จากอุปสรรคต่าง ๆ ตั้งแต่การเสาะหาวัตถุดิบ การผลิต การออกแบบแพคเกจจิ้ง ไปจนถึงการคิดสูตรต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของการทำให้ลูกค้าเข้าใจถึงความยากลำบาก และต้นทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยังไม่นับรวมการเฟ้นหาบุคคลากรที่จะร่วมสร้างธุรกิจไปด้วยกัน แต่ท้ายที่สุด วาเลอรีก็สามารถผลักดัน Cocoparadise เข้าสู่วงการอาหารเพื่อสุขภาพในตลาดฮ่องกงสำเร็จโดยคาดหวังว่าจะทำให้ผู้คนได้รื่นรมย์กับสแน็คที่ทั้งดีต่อร่างกายและดีต่อใจ และเป็นการพิสูจน์ว่าวิถีสู่การมีสุขภาพดีเป็นอะไรที่ง่ายขึ้น และไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อเสมอไป Cocoparadise เป็นแบรนด์สแน็คที่เน้นวัตถุดิบมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเพื่อเชิดชูปูมหลังไทย-จีนของครอบครัวเธอ วาเลอรีมีเชื้อสายไทย เธอเกิดและเคยใช้ชีวิตวัยเด็กที่ไทยจึงคุ้นเคยกับอาหารหรือสแน็คที่ทำจากมะพร้าว ในการเปิดตัวช่วงแรก แบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่หลังจากวาเลอรีบอกเล่าที่มาของธุรกิจ และบางทีก็โพสต์ภาพ before-after ของตัวเองลงโซเชี่ยลซึ่งผลลัพธ์ออกมาดีมาก ผู้คนเริ่มสนใจ สินค้าภายใต้แบรนด์ Cocoparadise มีให้เลือกหลากหลาย เช่น กราโนล่า คุกกี้ สเปรด และไอศกรีมวีแกน นอกจากจำหน่ายทางออนไลน์ยังเปิดเป็นป๊อปอัพสโตร์ตามห้างต่าง ๆ ในฮ่องกง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของ Cocoparadise จัดเป็นซูเปอร์ฟู้ดเนื่องจากปลอดกลูเต็น ปลอดผลิตภัณฑ์จากนม (เหมาะกับผู้แพ้น้ำตาลในนม) ไม่มีส่วนผสมของไข่ เคมี และสารกันเสีย แม้เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพในฮ่องกงจะไม่เปรี้ยงปร้างนักแต่วาเลอรีมองว่าคนเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น ดังจะเห็นว่าเริ่มมีผลิตภัณฑ์ plant based และ whole food วางจำหน่าย รวมถึงร้านอาหารที่ให้บริการอาหารประเภทนี้ก็มีแล้ว เชื่อว่าการเลือกมีสุขภาพดีจะกลายเป็นวิถีปกติของชาวฮ่องกง ในวันหนึ่ง การเป็นผู้ประกอบการมีทั้งปราบความสำเร็จและล้มเหลว แต่ในบางครา วิกฤติที่เผชิญอยู่อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ดี ๆ อย่างคาดไม่ถึงก็ได้ วาเลอรียกเล่าถึงการเตรียมตัวเพื่อเปิดร้านป็อปอัพช่วงแรก ๆ ว่ามีครั้งหนึ่งหลังจากที่แพ็คสินค้าและติดสติกเกอร์เรียบร้อยแล้วจึงพบว่า บนสติกเกอร์นั้นสะกดคำผิด จาก dairy-free เป็น diary-free ซึ่งผิดความหมาย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นวันเดียวก่อนเปิดร้าน และแม้จะเป็นความผิดพลาดเล็ก ๆ ที่อาจจะไม่มีใครสังเกตเห็น แต่วาเลอรีสั่งแพ็คสินค้าใหม่หมด เนื่องจากไม่สามารถพิมพ์สติกเกอร์ได้ทัน จึงมองหาบรรจุภัณฑ์อื่น แล้วใช้สเตนซิลกับหมึกปั๊มลงบนแพคเกจจิ้งแทน กลายเป็นว่าลูกค้าชอบแพคเกจจิ้งแบบนี้มาก เธอจึงยึดเป็นต้นแบบมาเพราะเข้ากับแบรนด์และสตอรี่ของแบรนด์ วาเลอรีได้ฝากข้อคิดสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่าอย่ายอมแพ้โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ท้าทาย เมื่อล้มเหลวก็ขอให้เรียนรู้เป็นบทเรียน และลองทางเลือกอื่นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในคราวหน้า พยายามกลับมายืนอีกครั้งโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องสมบูรณ์แบบที่สุด ขอแค่พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ทุกครั้งก็พอ ที่มา : www.smethailandclub.com https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/7796.html
18 มิ.ย. 2565
เปิดกลยุทธ์ Kopi Kenangan เชนร้านกาแฟโตเร็วสุดใน SEA ขึ้นแท่นยูนิคอร์นล่าสุดจากอินโด
“เราเริ่มต้นจากร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่ลงทุนเองทั้งหมด แต่ด้วยวิสัยทัศน์เดียวที่แน่วแน่ในใจว่าต้องการเป็นเชนร้านค้าปลีกกาแฟที่ใหญ่สุดในอินโดนีเซียโดยการเติมเต็มช่องว่างระหว่างร้านกาแฟราคาแพงกับร้านกาแฟรถเข็น ผมจึงกล้าฝัน แม้ว่าคนรอบข้างจะกังขา” เป็นคำพูดของเอ็ดเวิร์ด เทอร์ทานาต้า ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Kopi Kenangan เชนร้านกาแฟที่เติบโตเร็วสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสตาร์ทอัพจากอินโดนีเซียรายล่าสุดที่ไต่สู่ระดับยูนิคอร์น ความเชื่อมั่นใจสิ่งที่คิดทำให้เอ็ดเวิร์ดเดินหน้าลงขันกันด้วยเงินทุน 250 ล้านรูเปียห์ (ราว 5.7 แสนบาท) กับหุ้นส่วนอีก 2 คนได้แก่ เจมส์ ปรานันโต้ และซินเธีย แชรันนิสาเพื่อทำธุรกิจร้านกาแฟเล็ก ๆ โดยสาขาแรกที่ตึกสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ในเมืองหลวงจาการ์ตาเปิดบริการในเดือนสค. 2017 มีพนักงานเพียง 5 คน นอกจากวางตำแหน่งให้เป็นแบรนด์กาแฟที่เข้ามาอุดช่องว่างในตลาดระหว่างกาแฟราคาแพงจากเชนร้านกาแฟต่างประเทศ กับกาแฟสำเร็จรูปราคาถูกที่ขายตามแผงลอยข้างทาง โมเดลร้านยังถูกกำหนดแต่แรกให้เป็นแบบ grab ‘n go ไม่มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่ง ลูกค้าสามารถซื้อที่ร้านหรือสั่งซื้อทางออนไลน์แบบเดลิเวอรีก็ได้ Kopi Kenangan กลายเป็นแบรนด์กาแฟที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในแง่ของการเป็นกาแฟคุณภาพ รสชาตีดี ราคาไม่แพง ไม่แปลกใจที่จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจนสามารถขยายสาขาเป็น 223 ร้านภายในแวลาเพียง 2 ปี จากที่ทำยอดขาย 3.5 แสนแก้วต่อเดือนทั่วประเทศ ก็ก้าวกระโดดไปสู่ 3 ล้านแก้วต่อเดือน นอกจากนั้น ในการสำรวจความเห็น Kopi Kenangan ยังเป็นแบรนด์กาแฟในดวงใจลำดับสองของผู้บริโภคอินโดนีเซียอีกด้วย นับเป็นการสร้างการรับรู้แบรนด์ที่ใช้เวลาค่อนข้างสั้น เอ็ดเวิร์ดให้สัมภาษณ์ถึงเบื้องหลังกลยุทธ์ขยายสาขาแบบก้าวกระโดดเกิดจากการทำรวจตลาดแล้วพบว่ามีลูกค้าอีกมากมายที่ต้องการซื้อกาแฟ Kopi Kenangan แต่ร้านอยู่ไกล หรือบางพื้นที่ก็ไม่มีสาขา ร้อยละ 62 ของลูกค้าจึงเลือกซื้อกาแฟแบรนด์อื่น ประเด็นจึงอยู่ที่ความสะดวกของลูกค้า ถ้าเจออยู่ใกล้คือซื้อ แต่หากร้านตั้งอยู่ไกลออกไป ลูกค้าจะไม่ตามไปใช้บริการ เอ็ดเวิร์ดมองว่านอกจากคุณภาพและราคา ทำเลก็สำคัญไม่น้อย เขาจึงวางกลยุทธ์ใหม่ด้วยการขยายสาขาไปยังพื้นที่รอบนอกเมือง เน้นทำเลที่เป็นตึกแถว และตามปั๊มน้ำมันเพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากที่สุด ปี 2019 ถือเป็นปีทองของ Kopi Kenangan จากต้นปีที่มีสาขา 26 แห่ง หลังวางหมากขยายแบบปูพรม ช่วงปลายปี Kopi Kenangan ก็เปิดบริการมากถึง 223 สาขาโดยทั้งหมดเป็นร้านที่บริหารโดยบริษัทไม่ใช่ระบบแฟรนไชส์ เอ็ดเวิร์ดยอมรับว่าการบริหารร้านหลักร้อยสาขาย่อมแตกต่างจากหลักสิบ และช่วงแรก ๆ อาจมีปัญหาบ้างโดยเฉพาะเรื่องการซัพพลายเมล็ดกาแฟ แต่เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ปัญหานี้จึงถูกแก้ไขอย่างรวดเร็ว จนถึงปลายปี 2019 ร้าน Kopi Kenangan ทุกสาขาอยู่ในสภาวะทำกำไร แต่ละร้านใช้เวลาโดยเฉลี่ย 4-8 เดือนถึงจุดคุ้มทุน อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2020 รายได้ของบริษัทลดลง 35 เปอร์เซนต์เนื่องจากเกิดวิกฤติไวรัสโควิดระบาด ทำให้จำนวนลูกค้าเดินเข้าร้านน้อยลง แต่โชคดีที่ยังสามารถชดเชยจากยอดขายออนไลน์และเดลิเวอรี กอปรกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน การจำหน่ายผ่านแอปพลิเคชั่นจึงเป็นช่องทางหลักของบริษัท แม้จะเป็นช่วงเกิดโรคระบาด แต่รายได้ที่สม่ำเสมอและการเติบโตของธุรกิจที่มั่นคงก็ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นใน Kopi Kenangan เชนร้านกาแฟที่โตเร็วสุดของอินโดนีเซีย กระทั่งล่าสุดประกาศสามารถระดมทุนรอบซีรีส์ C จำนวน 96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ และขึ้นแท่นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายล่าสุดจากอินโดนีเซีย เงินทุนที่ไหลเข้ามาตรงกับช่วงเวลาที่ Kopi Kenangan กำลังมีแผนจะขยายธุรกิจในเครือที่กำลังได้รับการตอบรับดี ได้แก่ แบรนด์ขนมปัง Cerita Roti แบรนด์ผลิตภัณฑ์จากไก่ Chigo และแบรนด์ซอฟต์คุกกี้ Kenangan Manis ขณะเดียวกัน แอปพลิเคชั่น Kopi Kenangan ก็กลายเป็นแอปกาแฟที่มีการดาวน์โหลดมาก และได้คะแนนรีวิวดีสุด บนเส้นทางธุรกิจร้านกาแฟที่ยาวนานเพียง 5 ปี ปัจจุบัน Kopi Kenangan ขยายสาขาไปมากกว่า 600 แห่งใน 45 เมือง และมีพนักงานในสังกัด 3,000 กว่าคน โดยปกติทำยอดขายรวมกันเฉลี่ย 3 ล้านแก้วต่อเดือน แต่ช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด แรก ๆ ยอดขายจากลูกค้ามาซื้อที่ร้านลดลง Kopi Kenangan พลิกกลยุทธ์หันมาเน้นจำหน่ายออนไลน์ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยตลอด 12 เดือนของปี 2021 ที่ผ่านมา Kopi Kenangan ทำยอดขายกาแฟ รวม 40 ล้านแก้ว คาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2022 ยอดขายจะขยับไปอยู่ที่ 5.5 ล้านแก้วต่อเดือน เอ็ดเวิร์ดกล่าวว่าเงินทุนที่ระดมมาได้ บริษัทจะยังเน้นที่การขยายสาขาในอินโดนีเซีย และตั้งเป้าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนแผนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ช่วงนี้ยังเดินทางไม่สะดวก จึงอาจมีการทบทวนอีกครั้งเมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย ระหว่างนี้บริษัทได้ทำการวิจัยตลาดและพบว่าตลาดเหมาะสมกับการลงทุนของ Kopi Kenangan ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยเฉพาะไทยที่ตลาดเดลิเวอรีกำลังบูม ซีอีโอ Kopi Kenangan ยืนยันว่าหากเป็นไปได้ก็ยังต้องการขยายสาขาในรูปแบบ corporate owned หรือบริษัทเป็นเจ้าของและบริหารเอง เว้นเสียแต่ว่าบางประเทศที่มีกฎระเบียบห้ามบริษัทต่างชาติลงทุน 100 เปอร์เซนต์ก็คงต้องใช้วิธีร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น ส่วนรูปแบบการขายแฟรนไชส์นั้นไม่มีอยู่ในแผนของบริษัทแต่อย่างใด ที่มา : www.smethailandclub.com https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/7777.html
17 มิ.ย. 2565
ดีพร้อมเซนเตอร์ 7 เสริมเกราะ SMEs เชื่อมโยงอุตสาหกรรมสมุนไพรและอาหารเพื่อสุขภาพ
ระหว่างวันที่ 15 - 17 มิถุนายน 2565 ดร.รุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM CENTER 7) มอบหมายให้ นายสุมิตร ส่งเสริม, นางสาวรจนาภรณ์ ไกรรัตน์ และนายสังวาลย์ จันทะเวช ร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในกิจกรรมพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสมุนไพรและอาหารเพื่อสุขภาพ จังหวัดอำนาจเจริญ ภายใต้โครงการการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม ณ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ แนวคิด เทคนิค และกระบวนการในการพัฒนาคลัสเตอร์สมุนไพร และอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ แผนแม่บท แผนปฏิบัติการ กลยุทธ์โครงการ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจและปัญหาที่วิสาหกิจกำลังประสบอยู่ เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาต่อไป . #DIPROM #ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่7
17 มิ.ย. 2565
ดีพร้อมเซนเตอร์ 7 เติมศักยภาพ SMEs สร้างโอกาสการแข่งขันธุรกิจยุคใหม่
วันที่ 17 มิถุนายน 2565 ดร.รุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM CENTER 7) มอบหมายให้ พัฒนพงษ์ กลิ่นลั่นทม, นายสุมิตร ส่งเสริม, นายสมเกียรติ จันทร์เพ็ญมงคล, นายมิตร แสงกล้า ร่วมลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการสนับสนุนและพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ณ สถานประกอบการ อาทิ กิจการมาฆะฟาร์ม จ.ยโสธร , กลุ่มวิสาหกิจชุมชนครอบครัวอบอุ่นเลิกเหล้าบ้านคำกลาง 99 จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs . #DIPROM #ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่7
17 มิ.ย. 2565
ดีพร้อมเซนเตอร์ 7 เติมสุข SMEs คนสำราญงานสำเร็จ
วันที่ 17 มิถุนายน 2565 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM CENTER 7) จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตร “Happy and Productive Workplace คนสำราญงานสำเร็จ” ภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SHAP) ณ ห้องประชุมโมชาร์ท โรงแรมแกลลอรี่ดีไซน์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ด้วยหลักการ Happy 8 โดยมีผู้บริหารและพนักงาน บริษัท ศรีสะเกษพันธุ์ทอง จำกัด เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง . เจ้าหน้าที่ร่วมจัดกิจกรรม นางกรรณิการ์ การกล้า, นางแพงศรี พงษ์เกษม, นายธนเดช ศฤงคารนันต์, น.ส.นราวดี จันทร์จำปา และ นายสมชาย เชาว์ประโคน . #DIPROM #ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่7
17 มิ.ย. 2565
VC หน้าใหม่ ใจปลาซิว
วันนี้วงการสตาร์ทอัพเริ่มจะเลิกคุยเรื่องไอเดียดีๆ บริษัทใหม่ๆ แต่สิ่งที่เม้าส์มอยส์กันก็คือ VC ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในเมืองไทย จะไม่ให้คุยถึงได้อย่างไรในเมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรมต่างลงเงินทำ Venture Capital กันเป็นว่าเล่น และทุกรายต่างมีผลงานระดับย่ำแย่กันทั้งนั้น ปีที่แล้วฟินเทค หรือสตาร์ทอัพทางด้านการเงินดังมาก ในเมืองไทยธนาคารใหญ่ๆ ต่างตื่นตัวกลัวผลงานของสตาร์ทอัพทั้งหลายจะเข้ามา disrupt กิจการธนาคารของตัวเอง ต่างก็หาวิธีง่ายที่สุดก็คือ ดักซื้อกันตั้งแต่ต้นทางซะเลย ตามต่อด้วยวงการอสังหาริมทรัพย์ หรือ พร็อพเทค กลุ่มอสังหาฯ รายใหญ่ของบ้านเราก็เลียนแบบกลุ่มธนาคารของฟินเทค ผมกำลังรอดูปีนี้ที่กลุ่ม Health Tech กำลังมาแรง จะมีพวกโรงพยาบาลใหญ่รายไหนมาตั้ง VC ของตัวเองขึ้นมาบ้างมั๊ย ในความเห็นผม ผมไม่แนะนำให้ตัวพ่อตัวแม่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ มาตั้ง VC คอยสนับสนุนสตาร์ทอัพเท่าไหร่ เพราะข้อเสียมันมีมากกว่าข้อดี และที่สำคัญมันไม่เวิร์คโดยสิ้นเชิง อย่างไรหรือครับ ผมขออธิบาย จากประสบการณ์ของผมที่ได้ดีลงานกับแบงค์ใหญ่ๆ ที่มาตั้ง VC ก็คือ แบงค์ส่วนใหญ่จะตั้งแผนกใหม่ของตนเองขึ้นมา โดยแนวคิดก็คือ อยากให้ VC ที่ตั้งมีความแตกต่างจากองค์กรของแบงค์ ที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม แต่สิ่งที่ผมเจอมีดังนี้ครับ พนักงานที่โยกย้ายเข้ามาทำงาน บางคนก็โอนลูกน้องเก่าที่พอมีฝีมือ บางคนก็รับเข้ามาใหม่กันเลย แต่สิ่งที่ผมเจอก็คือว่า พนักงานพวกนี้ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการให้ทุนสตาร์ทอัพมาก่อนเลย ก็จะมีความรู้ได้อย่างไรครับ ในเมือเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหม่ สตาร์ทอัพในเมืองไทยที่เข้าสู่กระบวนการซีรียส์บี มีน้อยแบบนับหัวได้ ลูกน้องที่อยู่ในสายนี้จึงเหมือนกับมีความรู้เป็นศูนย์ ต้องเข้ามาเรียนรู้กันใหม่ทั้งหมด บาง VC ของแบงค์ ต้องจ้างพนักงานไปสัมมนาทั่วโลก เดินทางไปดูงานมากมาย เสียเงินสร้างคนเหล่านี้ขึ้นมาเพราะเห็นว่ากิจการนี้ยังไงก็ต้องมีติดเอาไว้ ทำให้ในรอบปีที่ผ่านมาผลงานของพนักงานกลุ่มนี้จึงแทบไม่ออกดอกออกผล เพราะมัวแต่เดินสายดูงานสร้างความรู้ใส่ตัว เท่านั้นยังไม่พอ สิ่งที่สตาร์ทอัพทั้งหลายที่หวังจะเห็น VC สายแบงค์ในเมืองไทยเป็นที่พึ่งพา กลับต้องฝันสลาย เพราะพนักงานพวกนี้แหละครับ เพราะการที่มีพนักงานสายนี้โดยตรงเท่ากับพนักงานจะต้องเป็นตัวกลางระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพที่แบงค์ต้องการลงทุนกับบอร์ดของ VC แต่สิ่งที่เจอคือ พนักงานยังรู้เรื่องเกี่ยวกับสตาร์ทอัพน้อยมาก เมื่อมาคุยกับสตาร์ทอัพแล้วเอาเรื่องไปเสนอบอร์ดพิจารณา พอเจอบอร์ดซักก็ไม่สามารถตอบได้ ต้องเทียวไล้เทียวขื่อ ไปๆ มาๆ ถามกันไม่จบไม่สิ้น ทั้งที่กระบวนการให้ทุนสตาร์ทอัพนั้นต้องรวดเร็ว เพราะเวลาของสตาร์ทอัพนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก แบงค์ไหนที่เจออย่างนี้ผมแนะนำเลยครับว่า เอาผู้บริหารสตาร์ทอัพไปนั่งคุยกับผู้บริหารของ VC ก่อนเลย คุยให้เข้าเป็นภาษาเดียวกัน และให้ผู้บริหารล็อบบี้บอร์ดทีละคน ให้เข้าไปตอบคำถามนอกรอบกันก่อน ถึงเวลาจะผ่านฉลุย แต่ๆๆๆๆ สุดท้ายแล้วทั้งหมดจะขึ้นกับบอร์ด ซึ่งบอร์ดบริหารของ VC ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้ใหญ่ในแบงค์ที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมนั่นแหละ คนพวกนี้จะตั้งคำถามที่ป้องกันความเสี่ยงของแบงค์ตลอดเวลา กลัวพลาด ซึ่งจริงการพลาดนี่แหละคือสิ่งที่ VC ถนัด ลงทุนสิบรอดให้ได้สองถือว่าประสบความสำเร็จ ด้วยสไตล์ของแบงค์นี่ผมแนะนำเลยครับ VC แบงค์ควรลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพระดับซีรียส์บี ไปจนถึง exit แล้วนั่นแหละถึงจะดี สตาร์ทอัพพวกนี้ไม่มีความเสี่ยง ทำกำไรมาแล้ว และเตรียมตัวที่จะขายกิจการแล้ว ดังนั้นถ้า VC แบงค์จะมาช้อนซื้อกลุ่มซีรียส์เอลงไปมันไม่เหมาะ ก็ควรจะประกาศตัวกันไป อย่ามาทำรีรอลังเลเหมือนตอนนี้เลย แค่ตัวอย่าง VC แบงค์อย่างเดียวก็เล่นเอาสตาร์ทอัพเข็ดขยาดกันเป็นแถว การเจรจามันเสียเวลา และบริหารจัดการยากมาก สู้คุยกับ VC ต่างชาติดีกว่าจบง่าย ไม่เรื่องมาก และกระบวนการชัดเจนมากกว่า แถมยังไม่เข้ามายุ่มย่ามในเรื่องการบริหารงานอีกด้วย นี่ผมเองยังสงสัยในกลุ่ม Constuction หรือกลุ่มก่อสร้างที่ยักษ์ใหญ่อย่าง SCG กำลังจะเข้ามา ถ้ายังเดินตามกลุ่มแบงค์ในการทำ VC ผมรู้สึกเสียดายของจริงๆ พูดถึงองค์กรใหญ่รุกเข้ามาในด้าน VC เพื่อป้องกันการ Disrupt จากสตาร์ทอัพ ผมเองไปงานข่าวของปตท.มา เรื่องการลงทุนไอทีด้าน Big Data เพื่อใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค แว่วว่าใช้งบลงทุนไปกว่าร้อยล้านบาท โดยใช้ระบบไอทีของ Teradata ด้วยโซลูชั่น Teradata Customer Journey เพราะตอนนี้ปั้มน้ำมันแบรนด์ใหญ่ๆ ทั่วโลกมีการใช้ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าที่มาเติมน้ำมันและใช้บริการสถานีน้ำมันกันอยู่แล้ว แต่สำหรับ ปตท. จะทำแบบครบวงจร นั่นคือ ผนวกเอาข้อมูลของฝั่งค้าปลีกและบริการอื่นๆ ในสถานีน้ำมัน เข้ามาวิเคราะห์ด้วย และน่าจะเป็นรายต้นๆ ของโลก ในระดับโลกเรายังไม่เห็นกลุ่มสตาร์ทอัพสายพลังงานเข้ามา Disrupt มากนัก ดังนั้นปตท.อาจไม่จำเป็นต้องตั้ง VC เข้ามาซื้อกิจการของใคร แต่ความจำเป็นที่จะต้องตามให้ทันเทคโนโลยีนั้นทิ้งไม่ได้ Big Data Analytics ที่เป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนการตลาดในระยะยาว ทำให้เก็บข้อมูลเส้นทางของลูกค้าได้ เช่น ปกติเติมน้ำมันที่ปั๊มไหนบ้าง ซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ ในวันใด ช่วงเวลาใด จากนี้จะต้องเก็บข้อมูลให้มากขึ้น คาดว่าจะเริ่มเห็นการทำตลาดจาก ปตท. มากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องพวกนี้เหมือนเป็นพื้นฐาน แต่องค์กรใหญ่ต้องฝ่าไปให้ได้ จะได้ด้วยการซื้อกิจการเข้ามา หรือต้องไปซื้อโซลูชั่นต่างๆ เข้ามา ก็ล้วนเป็นการลงทุนทั้งสิ้น ที่มา : https://www.sanook.com/hitech/1430449/
16 มิ.ย. 2565
Social Monitoring อนาคตใหม่ของวงการสตาร์ทอัพไทย
ได้รับการเอื้อนเอ่ยจากทางผู้บริหาร Sanook! บอกป๋าโยช่วยจัดเรื่อง start-up ของไทยหนักๆ หน่อย บอกเลยว่าทั้งขอบคุณและแอบหวั่นใจอย่างมาก เนื่องจากช่วงนี้ผมต้องไปเป็นทั้งที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงในเวทีต่างๆ ให้กับน้องๆ พวกนี้เยอะมาก การจะหยิบมาเขียนก็กลัวว่าจะเอาความลับที่อยู่ระหว่างการฟูมฟักของพวกเขาและเธอมาขายซะก่อน แต่ยังไงแล้วจะลองถ่ายทอดดูเพื่อให้น้องๆ ได้อยู่ในกระแสกันตลอดแล้วกัน ตั้งแต่ต้นปีมา กลุ่มซอฟต์แวร์ start-up แบบหนึ่งที่ดังเงียบๆ ดังแบบตั้งเนื้อตั้งตัวคือ กลุ่ม start-up ที่ทำโปรแกรม Social Listening หรือ Social Monitoring ถ้าถามว่าแอพพลิเคชั่นพวกนี้ทำอะไร ก็จะสรุปสั้นๆ ว่า โปรแกรมพวกนี้เขาไว้ตรวจสอบว่าในเรื่องราวแต่ละหัวข้อมีใครมาแสดงความเห็นแง่บวกแง่ลบอะไรบ้าง เช่นมีคนกล่าวถึง sanook ในแต่ละแง่อย่างไรบนโลกโซเชียลบ้าง อย่างล่าสุดมีข่าวว่า ภาครัฐจะจัดซื้อจัดจ้างโปรแกรมประเภทนี้นี่แหละมาตรวจสอบหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับภาครัฐ เพื่อเอาไว้ใช้งานหลายๆ ด้านทั้งทางด้านความมั่นคง และอื่นๆ เห็นว่าจะใช้งบประมาณหลายร้อยล้านกันเลยทีเดียว งบประมาณที่ลงก็จะซื้อบริการประเภทนี้นั่นแหละ จริงๆ โปรแกรมประเภทนี้มีอยู่ในโลกมากมาย แต่หลายประเทศโปรแกรมท้องถิ่นจะเป็นตัวตัดสิน เพราะเงื่อนไขทางด้านภาษา การที่จะตีตลาดในแต่ละประเทศได้ต้องได้เจ้าของภาษามาร่วมมือด้วยถึงจะเกิด โชคดีที่ภาษาไทยของเราแข็งแรงมาก โอกาสที่ต่างชาติจะเข้ามามีด้วยสถานการณ์เดียวคือ มากับดีลระดับโลกที่เกิดอยู่แล้ว เช่น เอเย่นซี่ที่ทำงานระดับโลก ไปตั้งสาขาในแต่ละประเทศ ก็จะบังคับให้ใช้โปรแกรม Social monitoring นี้ไปด้วย ดังนั้นลูกค้าของเอเยนซีอินเตอร์ทั้งหลายก็จะถูกบวกโปรแกรมนี้เข้าไปในเซอร์วิส แต่พอใช้จริงๆ มันไม่เวิร์ค บ้านเรามีสตาร์ทอัพโลคัลที่เกี่ยวกับด้านนี้ใหญ่ๆ อยู่ 4 ราย เป้าหมายเหมือนกันเด๊ะ แต่วิธีการพัฒนาไม่เหมือนกัน ตอนนี้สองรายสุดท้ายคือเบอร์สามกับเบอร์สี่นั่นได้รวมกิจการกัน สาเหตุเนื่องจากวิธีคิดในการพัฒนานั้นตอนแรกคิดน้อยไปหน่อย นั่นคือรายหนึ่งคิดวิธีการเสิร์ช หรือค้นหา อีกรายหนึ่งคิดการรับมือกับปัญหา คือการ analyze และตอบโต้ตัวปัญหา สองรายถนัดคนละอย่าง ขณะที่สองรายบนที่กินแชร์สูงสุดนั้นเขาคิดค้นสองอย่างรวมกันตั้งแต่แรก ดังนั้นในแง่ปฏิบัติจริงๆ ก็คือ เรามีสตาร์ทอัพในด้านนี้เหลือเพียงสามราย และทั้งสามรายต่างก็เข้ากระบวนการระดมทุน และได้แหล่งทุนเรียบร้อยกันแล้วทั้งหมด ไม่น่าเชื่อว่าเส้นทางระดมทุนของบริการด้านนี้จะสดใสมาก ที่สำคัญคือตัวเลขการระดมทุนนั้นแต่ละรายก็แตกต่างกันชัดเจนมาก เบอร์สามและเบอร์สี่ที่รวมกันระดมทุน ก็มีเจ้าพ่อรายใหญ่ทางด้านอีคอมเมิร์ชเป็นตัวตั้งตัวตี แม้จะระดมทุนไม่ได้มากในช่วงนี้ แต่ก็คาดว่าจะสามารถผ่านไปได้ในทุกระดับ ด้วยชื่อชั้นของเจ้าพ่อรายนั้นก็คงทำให้ทั้งสองรายที่รวมกันก้าวข้ามปัญหาทางด้านเทคโนโลยีไปได้ไม่ยาก สุดแต่ว่าจะใช้เวลาในการพัฒนามากน้อยขนาดไหนแค่นั้น ส่วนรายที่ได้มาร์เก็ตแชร์อันดับสอง ได้เข้าค่ายไปกับโอเปอเรเตอร์ และถูกค่ายโทรคมนาคมรายใหญ่จากเกาหลีใต้ซื้อกิจการจนเจ้าของบริษัท exit ไปแล้วด้วยความสบายใจ ตัวซอฟต์แวร์ก็มีการพัฒนาการขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง แถมยังต่อยอดในต่างประเทศในกลุ่มที่นักลงทุนแถบนั้นดูแลอยู่ได้อย่างสบาย สำหรับเบอร์หนึ่งนี่สิ ทันทีที่ได้รับการลงทุนเงินก้อนใหญ่จากกองทุนใหม่แห่งหนึ่ง ก็เหมือนเสือติดปีก ที่ผ่านมาก็แทบจะครองตลาดเมืองไทยเกือบหมด ด้วยความที่เอ็นจิ้นข้างในเขียนได้ยอดเยี่ยม และตัวประธานบริษัทซึ่งยังเป็นเด็กหนุ่มนั้นขยันขันแข็งเหลือเกิน เดินหน้าเข้าหาลูกค้าด้วยตัวเองตลอด แถมยังมี Business Plan ที่คนที่รู้เรื่องก็อยากร่วมธุรกิจด้วยทั้งหมด สองสามปีที่ผ่านมาเจ้าของ Social Monitoring เบอร์หนึ่งรายนี้แอบไปเปิดกิจการในต่างประเทศอยู่หลายแห่ง และไล่ทุบระบบเดียวกันที่เคยครองตลาดในหลายประเทศทิ้งอย่างหมอบราบคาบแก้ว แน่นอนการไปเปิดตลาดตั้งสำนักงานในต่างประเทศมันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่น่าเชื่อว่าสตาร์ทอัพรายนี้ทำสำเร็จ และผลจากการทำเช่นนี้ก่อนระดมทุนทำให้กลายเป็นสตาร์ทอัพที่เนื้อหอมที่สุดในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ แต่ แต่ การได้เงินเข้ามาของแต่ละรายมันหมายถึงยุทธศาสตร์การแข่งขันที่แตกต่างกัน รายที่สามสี่ที่ควบควมกิจการนั้น เป้าหมายที่ได้เงินคือเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตามคู่แข่ง ปิดจุดอ่อนของตัวเองก่อน ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้เห็นการประกาศรับพนักงานโปรแกรมเมอร์กันจ้าละหวั่น ส่วนรายที่สองเงินที่ได้ส่วนหนึ่งเป็นการ exit ของเจ้าของกิจการ จึงทำให้เงินที่จะขยายกิจการยังไม่แน่ชัดในช่วงที่ผ่านมา ขึ้นกับเจ้าของเงินที่ซื้อไปจะเอาเข้าไปลุยในตลาดเกาหลีได้ขนาดไหน แต่สำหรับรายที่หนึ่งนั้น การขอเงินไปนั้นชัดเจนเหลือเกิน รายนี้จะได้เงินก้อนใหญ่เพื่อทำให้ซอฟต์แวร์ของตนเองขึ้นไปอยู่บนคลาวด์ระดับโลก และเป็นซอฟต์แวร์ที่ไม่ต้องการการโปรโมทอีกต่อไป แต่มันจะถูกพัฒนาให้ใช้กับทุกประเทศในโลก ตอนนี้เวทีของสตาร์ทอัพรายนี้ไม่ใช่เวทีระดับประเทศ หรือระดับภูมิภาคเหมือนเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้เวทีระดับโลกเท่านั้นที่สตาร์ทอัพรายนี้หมายปอง แล้วทำไมผมไม่เอ่ยชื่อทั้งหมด ผมได้บอกไปตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าบางรายยังไม่ได้เปิดตัวออกมาเป็นทางการ แต่เชื่อว่าหลังจากปลายเดือนมิถุนายนนี้ผ่านไป ทุกอย่างจะกระจ่าง และเราจะได้จับตาดูสตาร์ทอัพไทยกลุ่มนี้อย่างสนุก และคุณจะตกใจกับมูลค่าที่มันทำได้ในประเทศไทยและในระดับโลก ถือเป็นอีกกลุ่มนึงเลยทีเดียวที่เป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่มา : istockphoto https://www.sanook.com/hitech/1426409/
15 มิ.ย. 2565
Uber ซื้อกิจการ Jump Bikes หวังปั้นจักรยานไฟฟ้าทั่วโลก
Uber ซื้อกิจการ Jump Bikes ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพจักรยานไฟฟ้าที่พัฒนาใน Washington DC และ San Francisco โดยจะดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยของ Uber โดยมี Ryan Rzepecki นั่งแท่น CEO และขึ้นตรงต่อ Dara Khosrowshahi CEO ของ Uber ได้ตรง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าอูเบอร์จะคิดค่าบริการ Jump Bikes เท่าไหร่และจะให้ทั่วโลกใช้งานผ่านแอป Uber อย่างไร สำหรับ Jump Bikes เป็นบริการรถจักรยานไฟฟ้าที่ผู้ใช้งานจะต้องจ่ายค่าบริการ 2 เหรียญ / 30 นาที โดยลักษณะของจักรยานจะคล้ายกับเรือลาดตระเวณริมชายหาดแต่เพิ่มมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไปในการเหยียบคันเร่ง ซึ่ง Ryan และทีมงานของ Jump Bikes ยังอุบเงียบเรื่องของข้อตกลงเกี่ยวกับเม็ดเงินที่ได้ ซึ่ง TechCrunch เผยมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าราคาอาจแตะ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย Uber จะเข้าถือหุ้น Jump Bikes ซึ่งแผนของอูเบอร์คือต้องการขยายตลาดไปยังต่างประเทศซึ่งตรงกับความตรงการของ Jump Bikes เช่นกัน โดยการขยายตลาดร่วมกันในรูปแบบที่ไม่ได้จำกัดแค่รถยนต์ จะช่วยให้อูเบอร์เป็น Multi-model Platform และเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะก่อนหน้านี้อูเบอร์เองก็ไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะดึงใครมาร่วมเข้าระบบ Ride sharing ซึ่ง Dara ก็ได้แสดงความมั่นใจว่าจะตอบโจทย์ผู้เดินทางที่หลากหลายมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้สรุปว่าโมเดลค่าบริการจะแตกต่างจากเดิมหรือไม่ ที่มา : thumbsup.in.th https://www.sanook.com/hitech/1449417/
14 มิ.ย. 2565
สตาร์ทอัพอเมริกันพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับผู้สูงวัยที่อยู่บ้านตามลำพัง
ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา SenCura ได้ให้บริการการดูแลทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แก่ผู้สูงวัยที่อาศัยในบ้านของตัวเอง ให้กับกลุ่มผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งในรัฐเวอร์จิเนีย นาย คลิฟ กลายเออร์ (Cliff Glier) ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่าวว่า บริการของทางบริษัทรวมถึงการอาบน้ำ การแต่งตัว การอยู่เป็นเพื่อน การวางแผนเรื่องอาหารเเละการปรุงอาหาร ตลอดจนการขนส่ง เรียกได้ว่าบริการทุกอย่างที่ผู้สูงวัยต้องการความช่วยเหลือ ฮอลลี่ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ดูแลผู้สูงวัยของบริษัท SenCura ซึ่งทำหน้าที่ไปเยี่ยม โอล์กา โรเบิร์ตสัน อายุ 88 ปีทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง เธอทำหน้าที่ปรุงอาหาร ขับรถพาผู้สูงวัยไปตามตารางการนัดพบต่างๆ เล่นเกมส์ลับสมอง เป็นเพื่อนออกไปเดินเล่นด้วยกันในชุมชนหรือในห้างสรรพสินค้า แต่หากฮอลลี่ไม่ได้อยู่ด้วย คุณโรเบิร์ตสันก็ยังมีเพื่อนเป็นหุ่นยนต์ชื่อรูดี้ (Rudy) ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบบทสนทนาได้ หุ่นยนต์รูดี้ยังสร้างความบันเทิงใจแก่คุณโรเบิร์ตสันได้ด้วย สามารถเล่าเรื่องขำขัน เล่นเกมส์เเละเต้นรำกับคุณโรเบิร์ตสันได้ นอกจากจะช่วยให้ผู้สูงวัยได้มีกิจกรรมทางสมองเเละทางกายเเล้ว หุ่นยนต์รูดี้ช่วยให้ผู้สูงวัยติดต่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง คอยเตือนเรื่องเวลา สอดส่องว่าผู้สูงวัยวางข้าวของส่วนตัวไว้ตรงไหนบ้าง เเละเตือนเรื่องนัดหมายต่างๆ ตลอดจนเวลารับประทานยา หุ่นยนต์รูดี้มีความสูงเกินหนึ่งเมตรเพียงเล็กน้อย เเละมีหน้าจอดิจิตัลติดอยู่ที่ลำตัว เพื่อใช้ผู้สูงวัยได้ใช้ติดต่อกับครอบครัวเเละผู้ให้การดูแล แอนโธนี่ นูนเนซ (Anthony Nunez) ผู้ก่อตั้ง INF Robotics บริษััทสตาร์ทอัพที่พัฒนาหุ่นยนต์รูดี้ กล่าวว่า แนวคิดเบื้องหลังการคิดค้นหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงวัย มาจากประสบการณ์ของมารดาของเขาในการดูแลคุณยายของเขาที่สูงวัย นูนเนซ กล่าวว่า เมื่อตัวเขาเองเริ่มสูงวัยขึ้น เขามองเห็นว่าครอบครัวของเขาไม่ได้โดดเดี่ยวเพราะทุกคนล้วนเจอกับปัญหานี้ ดังนั้นเขาจึงออกแบบหุ่นยนต์ที่ง่ายแก่การใช้งาน ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยและยังมีราคาที่ไม่แพง คลิฟ กลายเออร์ เจ้าของบริษัทดูแลผู้สูงวัย SenCura ได้พบกับนูนเนซเเละทีมงานของเขา ที่งานจัดเเสดงหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงวัยเมื่อปีกว่าที่แล้ว เขาเกิดความสนใจที่จะลองใช้หุ่นยนต์รูดี้กับลูกค้าของเขา กลายเออร์ กล่าวว่า ทางบริษัทดูแลผู้สูงวัยที่อายุ 80 ปี 90 ปี และ100 ปี เเละเทคโนโลยีหุ่นยนต์เป็นสิ่งใหม่สำหรับคนวัยนี้ จึงยังต้องเรียนรู้กันอยู่ อย่างไรก็ตาม กลายเออร์กล่าวว่า หุ่นยนต์รูดี้ไม่ได้เเข่งขันกับผู้ให้การดูแลที่เป็นมนุษย์ แต่หุ่นยนต์ตัวนี้ช่วยได้ในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานบ้าน หุ่นยนต์รูดี้มีบทบาทช่วยเสริมงานของผู้ให้การดูแลคนสูงวัย เพื่อให้คนวัยทองใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในบ้านของตน เเทนที่จะต้องไปอยู่ในบ้านพักคนชรา ที่มา : www.voathai.com https://www.sanook.com/hitech/1457693/
13 มิ.ย. 2565
สตาร์ทอัพอินเดียพัฒนา “สมาร์ทวอทช์เตือนภัย” สำหรับผู้หญิง
นาฬิกา Safer Pro ที่ผลิตโดยบริษัท Leaf Wearables อาจจะดูเหมือนนาฬิกา smartwatch ทั่วไป แต่นาฬิกานี้อาจมีศักยภาพในการช่วยชีวิตบรรดาสุภาพสตรีได้ นาฬิกาดังกล่าวจะมีปุ่มสีแดงเพื่อใช้กดส่งข้อความ SMS และเพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังครอบครัว หรือคนสนิทของคุณ โดยใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ต คุณ Manik Mehta ผู้ก่อตั้ง Leaf Wearables กล่าวว่า แนวคิดของการผลิตนาฬิกา Safer Pro ก็คือการสร้างอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ช่วยให้สามารถส่งสัญญาณไปยังผู้อื่นว่าตนกำลังอยู่สภาวะคับขัน ซึ่งนาฬิกา Safer Pro เปรียบเสมือนเครื่องช่วยเหลือแบบดิจิทัล โดยผู้ใช้ต้องกดปุ่มสีแดงค้างไว้จะเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยัง 5 หมายเลขที่ถูกกำหนดไว้ให้ได้เป็นผู้รับการแจ้งเตือน ว่าผู้ใส่นาฬิกากำลังตกอยู่ในอันตราย อุปกรณ์ชิ้นนี้ใช้งานง่าย เพียงแค่กดปุ่มเพื่อขอความช่วยเหลือ แทนที่จะมัวเสียเวลาค้นหาโทรศัพท์ นอกจากนี้ Safer Pro ยังสามารถใช้บันทึกเสียงได้อีกด้วย ซึ่งเสียงที่ได้รับการบันทึกจะส่งไปยังหมายเลขติดต่อฉุกเฉินที่กำหนดไว้ 5 หมายเลข เพื่อให้สตรีที่กำลังตกอยู่ในอันตรายสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที และยังมีการบันทึกเสียงไว้ใช้เป็นหลักฐานอีกด้วย ตอนนี้นาฬิกา Safer Pro ไม่ได้เป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยเพียงชิ้นเดียวในตลาด แต่ Safer Pro เป็นอุปกรณ์ที่เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน Women's Safety XPRIZE ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีแบบเรียบง่าย คุณ Manik มองว่า อินเดียและประเทศอื่นๆ ในเอเชียนั้น มีเครือข่ายโทรคมนาคมในระบบ 2G และ 3G เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์นั้น สามารถดำเนินการภายใต้ระบบ 2G ได้ ด้านคุณ Anu Jain ผู้ก่อตั้ง Women's Safety XPRIZE เล็งเห็นประโยชน์ของสมาร์ทวอทช์ชนิดนี้ในอินเดียรวมทั้งหลายประเทศที่มีภัยคุกคามมากๆ ซึ่งอุปกรณ์นี้จะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยเหล่าสุภาพสตรีได้เป็นอย่างดี และด้วยราคาที่ต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ หรือราว 1,320 บาท ทำให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีต่างหวังว่านาฬิกา Safer Pro จะทำให้บรรดานักจี้ปล้นทั้งหลายมีความยั้งคิดบ้าง เพราะผู้หญิงที่ใส่นาฬิกานี้ จะสามารถขอความช่วยเหลือได้ทันที และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้หญิงทั่วโลกได้ไม่มากก็น้อย ที่มา : www.voathai.com https://www.sanook.com/hitech/1460885/
12 มิ.ย. 2565