กสอ.ชี้ตลาด CLMV ขุมทอง ผปก.ไทยยังฮอต โตต่อเนื่อง 9.5% รวม 3 ปีซ้อน


03 ก.ค. 2560    Trakun    2
กสอ.ชี้ตลาด CLMV ขุมทอง ผปก.ไทยยังฮอต โตต่อเนื่อง 9.5% รวม 3 ปีซ้อน
นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

        กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ชี้ตลาด CLMV ยังเติบโตต่อเนื่อง เผยภาคการส่งออกใน 3 ปีล่าสุดขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 9.5% ขณะที่พม่า กัมพูชา และลาว รุกพัฒนาความเป็นเมืองและความทันสมัยของประเทศมากขึ้น ส่งผลอุตสาหกรรมก่อสร้างและสินค้าจากไทยยังเป็นที่ต้องการอย่างสูง พร้อมแนะตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
       
       นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตลาด CLMV ถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย โดยมีความสำคัญเทียบเท่ากับประเทศพันธมิตรด้านอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนเดิม (อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์) สำหรับสถานการณ์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV นั้นถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการส่งออกสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับ 7-8% ทุกปี และเมื่อพิจารณาในช่วง 3 ปีล่าสุดที่ผ่านมานี้ยังพบอีกว่ามีการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 9.5% (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลธนาคารไทยพาณิชย์)
       
       ทั้งนี้ จากข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของปี 2559 ยังชี้ให้เห็นอีกว่าพม่ามีอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 8.5% กัมพูชา 7.2% ลาว 7.5% และเวียดนาม 6.3% (ที่มา : ข้อมูลโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทยอยู่ที่ 4.15, 4.6, 3.9 และ 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ (ที่มา : ข้อมูลจาก Trade statistics for international business development) โดยการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ยังทำให้ CLMV ติดอันดับอยู่ในกลุ่ม 15 ประเทศที่จะมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีความพร้อมในด้านทรัพยากร เสถียรภาพทางการเมือง ช่องทางการตลาดที่ขยายขึ้น ซึ่งไทยต้องเร่งสร้างความร่วมมือให้ครบทุกมิติเพื่อที่ในอนาคตจะได้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในระดับมหภาคต่อไป
       
       นายพรเทพกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ไทยในการลงทุน ร่วมทุน และขยายสินค้าไปยังกลุ่ม CLMV ในปี 2560 นี้ พบว่าในประเทศพม่าและกัมพูชามีความต้องการอุตสาหกรรมก่อสร้างและสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น สุขภัณฑ์ อุปกรณ์เพื่อการสาธารณูปโภค เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างสูง เนื่องจากพม่ากำลังอยู่ในจุดของการพัฒนาและเปิดประเทศ กัมพูชาเริ่มขยายสู่ความเป็นเมือง โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของสิ่งก่อสร้างและศูนย์การค้ารองรับชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการการอนุญาตให้ชาวต่างชาติลงทุน 4 ธุรกิจในพม่า ได้แก่ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์พืช ยาฆ่าแมลง และเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาการร่วมค้าและลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรในกัมพูชาที่ขณะนี้ประเทศดังกล่าวกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งไทยเองถือได้ว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าวเป็นอย่างดี
       
       ขณะที่ สปป.ลาว พบว่าสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ลาวยังต้องพึ่งพิงจากไทยสูงสุด ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าปศุสัตว์ และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นรวมทั้งกลุ่มธุรกิจประเภทแฟรนไชส์และธุรกิจการบริการก็ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคชาวลาวมากขึ้น โดยมาจากการเริ่มผันตัวสู่วิถีชีวิตของการเป็นสังคมเมือง รวมทั้งการเข้ามาของตลาดโมเดิร์นเทรดและช่องทางการค้าออนไลน์ ซึ่งในอนาคตคาดว่าช่องทางเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าวอย่างสูง
       
       ส่วนทางด้านประเทศเวียดนาม ถือได้ว่าเป็นทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่งสำหรับไทย เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันทั้งกลุ่มตลาดส่งออกที่สำคัญเช่นเดียวกัน มีศักยภาพในด้านการเป็นฐานการผลิต โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกสูง แต่อย่างไรก็ตาม แม้หลายฝ่ายจะมองว่าเวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวโดยเฉพาะในเรื่องต้นทุน แต่ไทยเองก็ยังมีความได้เปรียบที่สูงกว่าทั้งในเรื่องคุณภาพของสินค้า กระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารแปรรูป และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งความสามารถในการเข้าสู่ช่องทางตลาดที่ไทยมีมากกว่า ดังนั้น ไทยต้องสร้างจุดแข็งด้วยความได้เปรียบดังกล่าวเพื่อยกระดับให้สินค้าไทยมีความยากที่จะแข่งขัน พร้อมผลักดันสู่ตลาดระดับบนได้ต่อไป
       
       นายพรเทพกล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งตลาดที่มีความน่าสนใจการขยายสินค้าและน่าลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทยในขณะนี้ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ซึ่งในปีที่ผ่านมามีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทย 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งในเขตตะวันออกกลางของไทย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางที่สามารถส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้ ความน่าสนใจของ UAE ยังอยู่ที่รัฐบาลของประเทศดังกล่าวได้พยายามส่งเสริมการค้าการลงทุน รวมทั้งสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจเสรีทั้งในรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต และการใช้ UAE เป็นฐานการกระจายสินค้า สำหรับสินค้า 5 อันดับแรกของปี 2559 ที่ UAE นำเข้าจากไทยมากที่สุด ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์เครื่องจักรกล อัญมณีและเครื่องประดับ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์จากไม้
       
       นอกจากนี้ ตลาดอาหารและเครื่องดื่มใน UAE และตะวันออกกลางยังถือว่าเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ โดยมีปัจจัยส่งเสริมทั้งจากความต้องการอาหารตามมาตรฐานฮาลาลในปริมาณที่สูง ความสามารถในการผลิตอาหารที่อยู่ในระดับต่ำของ UAE และตะวันออกกลาง การใช้จ่ายค่าอาหารต่อหัวที่สูงกว่าไทยถึง 2.4 เท่า การเป็นประเทศที่มีผลผลิตและวัตถุดิบทางการเกษตรในปริมาณต่ำ ตลอดจนการประสบปัญหาน้ำหนักตัวของคนในภูมิภาคที่สูงเกินมาตรฐานที่เป็นช่องทางในการขยายกลุ่มอาหารประเภทฟังก์ชันและอาหารเพื่อสุขภาพไปยังร้านสะดวกซื้อหรือโมเดิร์นเทรดที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ 

 

อ้างอิง https://goo.gl/1P4KHt

แท็ก: