รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์หารือภาคเอกชน เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0
จ.นครราชสีมา 13 กันยายน 2561 - นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม นางเบญจมาพร เอกฉัตร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารองค์กรเครือข่ายภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ร่วมกันประชุมหารือแนวทางเพื่อการขับเคลื่อน SMEs 4.0 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยมี นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับและร่วมหารือ ณ Hall 2-3 ชั้น 4 ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับฟังและร่วมหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อน SMEs 4.0 จากทางเครือข่ายภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ที่นำเสนอแนวทางการพัฒนา (flagship) ที่ตอบสนองความต้องการของพื้นที่จำนวน 4 flagship ดังนี้
- การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมโคเนื้อ (อีสานวากิว) เป็นการพัฒนาด้านการเลี้ยงโคของเกษตร มาตรฐานการเลี้ยงโคขุน ระบบการจัดเก็บข้อมูลโดยการติด Microchip การแปรรูปเนื้อโคส่วนเหลือทิ้ง (ITC-Pilot Plant) และส่งเสริมให้มี Startup สู่การตลาดเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นอีสานวากิว
- ศูนย์พัฒนาบุคลากรและออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้า โดยใช้พื้นที่ ศูนย์ ITC 4.0 ของ ศภ.6 จ.นครราชสีมา เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และการออกแบบให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและยกระดับคุณภาพผ้าไหมอีสานและผลิตภัณฑ์สิ่งทอให้มีมาตรฐานระดับสากลพร้อมรูปแบบที่ทันสมัย
- SMEs Factory 4.0 ต่อยอดจาก ศูนย์ฯ ITC ของ ศภ.6 เป็นโรงงานต้นแบบเพื่อทดลองการผลิต และทดลองปฏิบัติการ ที่ผู้ประกอบการคนตัวเล็กร่วมกันสร้างให้มีมาตรฐานขึ้นมา เพื่อให้ SMEs รายย่อยเข้าใช้บริการผลิตสินค้าพร้อมบรรจุภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายขยายการจัดทำโรงงานต้นแบบทุกจังหวัด จำนวน 200 โรงงาน ภายใน 3 ปี
- การพัฒนาอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังสู่ "Tapioca 4.0" ซึ่งมีความต้องการพัฒนาโดยการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบในพื้นที่ให้เพียงพอต่อกำลังผลิต ด้วยแนวคิด "เกษตรอุตสาหกรรม" และยกระดับเทคโนโลยีการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติแบบทันสมัย รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการพัฒนางานวิจัยและผลิตภัณฑ์ใหม่
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในทุกด้านเช่น การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมโคเนื้อ มอบให้สถาบันอาหารเข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย มอบให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเข้ามาช่ววยพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ให้เกิดเป็นรูปธรรม