กรุงเทพฯ 28 มกราคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวิจักขณ์ รัตนสุวรรณ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นางเกษสุดา ดอนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ร่วมส่งมอบต้นแบบเครื่องมือแพทย์ 2 ผลงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 30 ชิ้น ให้แก่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน 23 แห่ง ทั่วประเทศ โดยมี ผู้แทนจากสถานพยาบาลดังกล่าวเป็นผู้รับมอบในครั้งนี้ ณ ห้องธารกำนัล พระราชวังพญาไท เขตราชเทวี
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การส่งมอบต้นแบบเครื่องมือแพทย์ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการส่งเสริมการขยายผลงานต้นแบบเครื่องมือแพทย์ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเป็นการพัฒนาและต่อยอดต้นแบบเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมุ่งเน้นการประยุกต์เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว รวมทั้งสำรวจความต้องการจากบุคลากรทางการแพทย์และได้ปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งได้คัดเลือกต้นแบบเครื่องมือแพทย์ 2 ผลงาน มาปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานจากข้อเสนอแนะของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง จนได้เครื่องมือแพทย์ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ประกอบด้วย 1. เครื่อง Distancing Stethoscope หูฟังทางการแพทย์ โดยสามารถใช้งานได้ทั้งในรูปแบบ Acoustic Stethoscope ที่แพทย์มีความคุ้นเคย หรือรูปแบบ Bluetooth Wireless ที่สามารถส่งสัญญาณได้ไกลกว่า 5 - 10 เมตร เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างแพทย์ผู้ตรวจและผู้รับการตรวจ และ 2. เครื่องติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาเหมาะสำหรับการใช้งานในหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือ หน่วยบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินและสามารถใช้ร่วมกับรถพยาบาลหรือพาหนะฉุกเฉินทางการแพทย์ เพราะมีน้ำหนักเบา มีแบตเตอรี่ในตัวสามารถใช้งานได้กว่า 2 ชั่วโมงต่อเนื่อง รวมทั้งมีหน้าจอระบบ touch screen สามารถขยายหรือลดขนาดคลื่นไฟฟ้าและหยุดหน้าจอชั่วขณะ เพื่อทำการวินิจฉัยอาการได้สะดวกยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการขยายผล เพื่อจัดเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและผู้สนใจด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์การใช้งานต้นแบบโดยบุคลากรทางการแพทย์ การสาธิตและแนะนำการใช้งานต้นแบบและบรรยายเกี่ยวกับองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องมือแพทย์ โดย ดีพร้อม เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำไปสู่การใช้งานในสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพสู่การใช้งานจริงในกลุ่มสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากล สามารถแข่งขันกับต่างประเทศและเกิดความยอมรับในสายตานานาชาติต่อไปได้ในอนาคต ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
แท็ก: