DIPROM CENTER 7 ร่วมเดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่อีสาน ขับเคลื่อน"Green Project ลดคาร์บอน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"
.
จังหวัดขอนแก่น: วันที่ 24 กรกฎาคม 2567
นางละเอียด มธุรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ DIPROM CENTER 7 นำบุคลากรเข้าร่วมพิธีเปิดสัมมนา “ISAN Moving Green Forward” ก้าวไปข้างหน้าเพื่อโลก เพื่อเราชาวอีสาน ด้วย BCG Model กับโอกาสธุรกิจ เอสเอ็มอี วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ณ ห้องประชุมมงกุฎเพชร โรงแรมโฆษะ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมี นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธาน
.
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งเดินหน้า ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา ผ่านกลไก 3 ด้าน คือ 1) Green Productivity 2) Green Marketing และ 3) Green Finance เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ คำนึงถึงความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยโปรเจคกรีนต่าง ๆ ในปี 2567 ได้แก่
1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาทิ สมุนไพรเชิงพื้นที่เพื่อสุขภาพและความงาม อาหารจากซูเปอร์ฟู้ด และผลิตภัณฑ์จากเส้นใยชีวภาพ
2) การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน
3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล ฯลฯ ผ่านการจัดกิจกรรม “ISAN Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา ชาวอีสาน” ที่มุ่งสร้างการรับรู้และจูงใจให้ผู้ประกอบการให้เห็นความสำคัญในการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของไทยในยุคปัจจุบัน โดยตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 300 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 61.5 ล้านบาท
.
นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทย กำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศในหลายมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความเสี่ยงและความผันผวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม ที่ได้เกิดปรากฏการณ์ภาวะโลกเดือด ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น จนเกินสมดุล เพื่อผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืนผ่านกลไก 3 ด้าน คือ
1) Green Productivity
2) Green Marketing
3) Green Finance
นางดวงดาว กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้านโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ของ นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มุ่งเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับให้สามารถยืนหยัด รับมือ และปรับตัว ได้เท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ มีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรม ยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างความตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมุ่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรและการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด
.
สำหรับกิจกรรม“ISAN Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา ชาวอีสาน” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่ช่วยเร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนัก และให้ความสำคัญ ในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดความตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดให้มีการบรรยายและเสวนาจากองค์กรและบริษัทชั้นนำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มานำเสนอ องค์ความรู้และประสบการณ์ในการต่อยอดธุรกิจยุคใหม่สู่สังคมคาร์บอนต่ำ การบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงการอัพเดทเทรนด์ตลาด บรรจุภัณฑ์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามกระแสรักษ์โลกที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์ชุดสุภาพสตรีจากวัสดุเหลือใช้ กระเป๋าเรียกทรัพย์เรียกเงินเรียกทอง หมอนอิงสมุนไพรปูทูลกระหม่อม ผลิตภัณฑ์บำรุงดินจากโรงผลิตก๊าซชีวภาพ ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยสับปะรด ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกล้วยตานี ผลิตภัณฑ์ แปรรูปจากไข่ผำ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีด ชุดแฟชั่นจากวัสดุผสมผสาน ร้องเท้าสุภาพสตรีจากวัสดุเหลือใช้ ผลิตภัณฑ์เทียนหอม นมอัดเม็ดออร์แกนิค ผลิตภัณฑ์ไม้อัดจากเปลือกส้ม เบียร์ที่ผลิตจากเปลือกเมล็ดโกโก้ และผลิตภัณฑ์กกรักษ์โลก เป็นต้น ตลอดจนกิจกรรม Green Business Clinic & Networking และการออกบูธ จากหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ ภายในงาน เพื่อเรียนรู้เทรนด์ธุรกิจ องค์ความรู้ต่าง ๆ และมุมมองการปรับตัว ของภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ครบทุกมิติ รวมถึงการให้แนะนำสินเชื่อสำหรับธุรกิจรักษ์โลกจากสถาบันการเงินต่าง ๆ
.
นอกจากนี้ ในปี 2567 ยังมีโปรเจกต์กรีนต่าง ๆ ดีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเพิ่มรายได้ ในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกมากมาย ได้แก่
1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเชิงพื้นที่เพื่อสุขภาพและความงาม (Herbal City – Herbal Product)
2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากซูเปอร์ฟู้ด (Super Food – Super Product)
3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยชีวภาพ
4) การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Enterprise)
5) การพัฒนาผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล (Upcycled Product)
6) การพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตพลังงานและเชื้อเพลิงจากชีวมวล (Biomass)
7) การสร้างความตระหนักและการพัฒนา องค์ความรู้ด้าน BCG ที่มุ่งสร้างการรับรู้และจูงใจให้ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เห็นความสำคัญ ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมปรับตัวรองรับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของไทยในยุคปัจจุบัน และส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมเชื่อมโยงสู่การขอมาตรฐานหรือฉลากสินค้า ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 300 ราย ซึ่งคาดว่า จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 61.5 ล้านบาท และนำร่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศมุ่งสู่ 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีตามเป้าของกระทรวงอุตสาหกรรม “การจัดงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้ ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 3 จากทั้งหมด 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกที่ภาคกลาง เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ที่ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นอีก 1 ครั้ง ในพื้นที่ภาคใต้ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช” นางดวงดาว กล่าวทิ้งท้าย
.
เจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติงาน
1. นางสาวประภาวดี มีนาเขตร นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการพิเศษ
2. นางชนันนัทธ์ ช้างหมื่นไวย นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการ
3. นางสาวเกศกนก เดชผล นักวิชาการอุตสาหกรรมปฏิบัติการ
4. นายตระกูล อ่อนรัตน์ นักวิชาการอุตสาหกรรมปฏิบัติการ
5. นางสาวสุชารัตน์ เกาะแก้ง นักวิชาการอุตสาหกรรม
6. นายสมชาย เชาว์ประโคน พนักงานจ้างเหมาบริการ (พขร.)