กรุงเทพฯ 19 ธันวาคม 2562 - ดร.รุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางละเอียด มธุรส ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรม เข้าร่วมงานแถลงข่าวแถลงทิศทางและนโยบาย ปี 63 ปั้น ปรุง เปลี่ยน SMEs ให้ดีพร้อม (DIProm) พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสื่อมวลชน ร่วมดังกล่าว ณ ห้องประชุมโซน B ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) โดย นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
สำหรับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้กำหนดทิศทางและนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามสโลแกน “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)” ซึ่งสอดรับกับข้อสั่งการเร่งด่วน 3 ด้าน ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คือ 1.) ปั้นเอสเอ็มอีอุตสาหกรรม โดยเน้นการพัฒนาภาคเกษตรจากเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ 2.) ปั้นเอสเอ็มอีให้มีความสร้างสรรค์ โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ 3.) ปั้นเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ โดยจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้ดิจิทัลแอพพลิเคชั่นช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจด้วยโปรแกรมเชิงพาณิชย์ นอกจากการ ”ปั้น” ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 3 ด้าน ดังกล่าวแล้ว กสอ. ยังได้ “ปรุง” มาตรการและโครงการเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยกันปรุง ช่วยกันกระจายการส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค และสุดท้ายคือ การ ”เปลี่ยน” วิธีดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีอย่างมีประสิทธิภาพ โดย กสอ. จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานภายในกรมฯ เพื่อรองรับการส่งเสริมและพัฒนาด้านเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (Department of Industrial Promotion – DIProm) จะ “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดี และไม่ใช่แค่ดีเฉย ๆ แต่ต้องดีพร้อม (DIProm) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2563 กสอ. จะทุบงบประมาณ กว่า 800 ล้านบาท ในการเร่งเครื่องการทำงานตามทิศทางและนโยบายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท