กรุงเทพฯ 31 กรกฎาคม 2560 - กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งบรรเทาความเสียหายจากวิกฤตการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในภาคอุตสาหกรรมพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน โดยมอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัด ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูกิจการโรงงานอุตสาหกรรม และวิสาหกิจชุมชนทันที ประกอบด้วย มาตรการการฟื้นฟูสถานประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ มาตรการเชื่อมโยงโรงงานฯ และ SMEs ที่ถูกน้ำท่วมกับสินเชื่อ SMEs Bank มาตรการการลงพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำการป้องกัน ตลอดจนการกำหนดให้ SME Support and Rescue Center ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs เป็นศูนย์ช่วยเหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยจาการติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด พบว่า จังหวัดสกลนครเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด มีสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมของ SMEs ได้รับความเสียหายมากถึง 80 – 100 โรงงาน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้กระทรวงฯ จะยังคงติดตามสถานการณ์และพื้นที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยพื้นที่ที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ จังหวัดนครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด เพื่อการกำหนดมาตรการการช่วยเหลือระยะอื่นๆ ต่อไป
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จนทำให้เกิดภาวะน้ำป่าไหลหลาก อุทกภัยแบบฉับพลัน รวมถึงดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิตรวมถึงทรัพย์สินต่างๆ ที่มีความเสียหายและได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในส่วนของราชการและประชาชน โดยจากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า ภาคอุตสาหกรรมก็เป็นภาคส่วนหนึ่งที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นสถานประกอบการของผู้ประกอบการ SMEs โรงงานอุตสาหกรรม วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนหน่วยงานและศูนย์บริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จากการประเมินความเสียเบื้องต้นทราบว่า ในจังหวัดสกลนครถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด โดยมีสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมของ SMEs ได้รับผลกระทบถึง 80-100 โรงงาน จากจำนวนโรงงานจำพวก 2 และ 3 รวมกว่า 600 โรงงาน อีกทั้งยังมีพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังความเสียหายอีก 4 จังหวัด คือ นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด
ทั้งนี้ สามารถสรุปสถานการณ์อุทกภัยและน้ำไหลหลากปัจจุบันมี 19 จังหวัด ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ มุกดาหาร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ชุมพร
สำหรับจังหวัดสกลนคร ระดับน้ำยังมีการเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำจากเทือกเขาภูพานไหลหลากลงมา ประกอบกับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ปริมาณน้ำสูงกว่าระดับกักเก็บน้ำ ทำให้น้ำไหลทะลักท่วมพื้นที่รวม 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสกลนคร สว่างแดนดิน พังโคน เต่างอย กุสุมาลย์ พรรณานิคม และอากาศอำนวย ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,863 ครัวเรือน 23,538 คน
ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสกลนคร มีจำนวนทั้งสิ้น 609 โรงงาน (โรงงานจำพวก 2 จำนวน 180 โรงงาน และโรงงานจำพวก 3 จำนวน 429 โรงงาน) จากอุทกภัยครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อโรงงาน ประมาณ 100 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 16.42 ของจำนวนโรงงานทั้งหมด ได้แก่ โรงงานหีบน้ำมันปาล์ม โรงสีข้าว โรงงานผลิตยางเครป โรงงานผลิตเสื้อผ้า โรงกลึง โรงงานซ่อมและเคาะพ่นสี เป็นต้น
สำหรับความช่วยเหลือของภาคอุตสาหกรรม ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ประกอบด้วย รถบรรทุกขนาดใหญ่สำหรับอพยพผู้ประสบภัยออกนอกพื้นที่ 494 คัน เครื่องสูบน้ำ 151 เครื่อง เรือ 71 ลำ และเงินบริจาค จำนวน 515,500 บาท และบางรายได้บริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น น้ำดื่ม ข้าวสาร บะหมี่สำเร็จรูป ผ้าห่ม รองเท้าบูทยางกันน้ำ อาหารแปรรูป น้ำมันพืช นม น้ำตาลทราย น้ำผักและผลไม้ และยารักษาโรค เป็นต้น และขณะนี้ยังเปิดรับการช่วยเหลือจากผู้ประกอบการอยู่ อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
มาตรการเร่งด่วน
1. สำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และพื้นที่เฝ้าระวัง เพื่อให้คำแนะนำการป้องกันพร้อมแจกจ่ายคู่มือการป้องกันเครื่องจักรอุปกรณ์ที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม
2. การฟื้นฟูสถานประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน โดยความร่วมจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายและบริษัทเอกชนใหญ่ในพื้นที่ จะเข้าร่วมทำความสะอาด ตรวจเช็คเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า และซ่อมแซมเครื่องจักรอุปกรณ์ ภายหลังน้ำลด
3. ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ค่าธรรมเนียมตรวจควบคุมคุณภาพ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าการตรวจติดตามทั้งร้านจำหน่ายและผู้ทำ ในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ส่วนระยะเวลาที่ยกเว้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
4. มอบหมายศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจภายในศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SME (SME Support and Rescue Center : SSRC) ที่อยู่ภายในสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานการให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. ลูกค้าสินเชื่อโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครับและหัตถกรรมไทยของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมให้มีการพักชำระหนี้ 4 เดือน ปลอดหนี้ไม่เกิน 4 เดือน โดยลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 1 ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และวิสาหกิจชุมชน ได้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับนำไปพัฒนาระบบการบริหารจัดการ พัฒนาการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนพัฒนาการตลาดต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์
มาตรการระยะกลาง
1. เชื่อมโยงโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กับสินเชื่อของ SME Bank โดยผ่อนปรนระยะเวลาชำระหนี้ และให้สินเชื่อ (สินเชื่ออุทกภัย) เพิ่มเติมในการฟื้นฟูกิจการรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท (มาตรการที่ช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ SMEs ทั่วไป ทั้งนี้ SME Bank อยู่ระหว่างนำเสนอ สศค. กระทรวงการคลัง ขยายสินเชื่ออุทกภัยภาคใต้ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ (3%) ผ่อนชำระยาวถึง 7 ปี ให้ครอบคลุม SMEs ที่ประสบอุทกภัยทั้งหมดของประเทศ)
2. ประสานไปยังผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่จังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบ (modern tradeทั้งหลาย) ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัดต่าง ๆ นำสินค้า มอก. (โดยเฉพาะข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน) มาจำหน่ายในราคาพิเศษ
https://goo.gl/9Z1buW