โทรศัพท์ 1358
การค้นหาขั้นสูง

หมวดหมู่
กลุ่มธนาคาร ลงทุนสตาร์ทอัพเรื่อง AI Fintech และ Data Analytics
กลุ่มธนาคาร ลงทุนสตาร์ทอัพเรื่อง AI Fintech และ Data Analytics
กรุงศรี ฟินโนเวต เดินหน้ายึดความเป็นผู้นำด้าน Corporate Fintech Accelerator โดยมุ่งเน้นไปในการพัฒนาสตาร์ทอัพด้าน AI, Data Analytics และ Fintech บริษัทตั้งเป้าหมายลงทุนตรง (Direct Investment) ในสตาร์ทอัพระดับ Series A และ Series B ที่มุ่งเน้นในเรื่องเทคโนโลยี AI และ Data Analytics เป็นหลัก ซึ่งมองหาโอกาสในการลงทุนทั้งกับสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน โดย Silot จะเป็นสตาร์ทอัพรายแรกที่กรุงศรี ฟินโนเวต ตัดสินใจลงทุนในปีนี้ โดย Silot เป็นสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ โดยผู้ก่อตั้งชาวจีน ซึ่งให้บริการด้านแพลตฟอร์มด้านการธนาคารแบบครบวงจร และมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี AI การลงทุนใน Silot จะเสริมสร้างและพัฒนาระบบชำระเงินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำ Corporate Fintech Accelerator ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องมาถึง 3 ปี โดยในปีที่ผ่านมาสามารถขยายขอบเขตการเปิดรับ ดึงดูดสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์และเวียดนามเข้าร่วมโครงการ ความร่วมมือและการลงมือปฏิบัติในสภาพแวดล้อมจริงส่งผลให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตในอัตราเร่งที่รวดเร็วกว่าเดิม เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการเป็นอย่างมาก ที่มา : www.smartsme.co.th
02 ม.ค. 2565
TED Fund จับมือ NIA และออมสิน จัดหนักสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสู้ภัยโควิดให้สตาร์ทอัพ
TED Fund จับมือ NIA และออมสิน จัดหนักสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสู้ภัยโควิดให้สตาร์ทอัพ
TED Fund จับมือ NIA และออมสิน จัดสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสู้ภัยโควิดให้ Startup ซึ่งอยู่ระหว่างรับทุน และไม่ได้รับทุน ปล่อยกู้สูงสุดรายละ 10-20 ล้านบาท ดอกเบี้ยเพียง 2% นายนิคม ปัญญาทวีกิจไพศาล ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เปิดเผยว่า ภายหลังจาก TED Fund ดำเนินการสนับสนุนทุนแก่กลุ่มธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ไปแล้วกว่า 200 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 325 ล้านบาท ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและตัวชี้วัด มากกว่า 40 โครงการ แต่ที่เหลือกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ สามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ TED Fund และ NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จึงได้ร่วมมือกับธนาคารออมสิน ประกาศนโยบายสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ ที่อยู่ระหว่างการรับทุนของ NIA และ TED Fund บรรเทาสภาวะทางการเงินเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 2 โครงการได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อนวัตกรรมสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุน ในวงเงินกู้สูงสุด 1.5 ล้านบาท และ โครงการสินเชื่อเพื่อนวัตกรรมสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุน วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดย TED Fund และ NIA จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นายอนุรักษ์ เสงี่ยมจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs Startup กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ กล่าวว่า ธนาคารได้รับมอบหมายให้สนับสนุน ธุรกิจ Startup และ SMEs Startup ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย ธนาคารจึงได้จัดตั้ง Venture Capital ขึ้นมาก่อนหน้านี้ จำนวน 4 กอง รวมมูลค่า 2,500 ล้านบาท รวมทั้ง Angle มูลค่า 500 ล้านบาท อีก 1 กอง เพื่อสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มนี้ ภายใต้โครงการ GSB Startup Ecosystem และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ส่วนกลุ่ม Startup ที่อยู่ในโครงการของ TED Fund และ NIA และ/หรือ ผู้ประกอบการที่เคยผ่านการคัดกรอง หรือได้รับการรับรองความเป็นนวัตกรรมจาก TED Fund และ NIA นั้น ธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อให้ “ทุกราย” ภายใต้วงเงินที่กำหนดไว้คือ สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท/ราย สำหรับ Stratup และไม่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับ SMEs Startup อัตราดอกเบี้ย 2% ในช่วง 2 ปีแรก และตั้งแต่ปีที่ 3 ขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยจะเป็น MOR ลอยตัว (MOR+2) “Startup และ SMEs Startup ที่จดทะเบียนตั้งบริษัทแล้ว ดำเนินธุรกิจแล้ว และมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงแล้วไม่เกิน 3 ปี ไม่ว่าจะได้รับทุนจาก TED Fund หรือ NIA หรือไม่ก็ตาม ทุกคนสามารถเดินเข้ามาคุยกับเราได้ เพราะเราพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกราย ส่วนที่มีผู้กังวลในเรื่องหนี้เสียนั้น เราได้มีการปรับเกณฑ์ของธนาคารให้อยู่ในลักษณะที่พอรับความเสี่ยงได้ ไว้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) เข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้ง TED Fund และ NIA ช่วยสกรีนผู้ประกอบการให้เรา ความเสี่ยงจึงน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และยอมรับได้ ประเด็นหลักในขณะนี้คือ เราต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ก่อนที่จะคิดอย่างอื่น” นายอนุรักษ์ กล่าวในที่สุด อ้างอิง: กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม https://www.smartsme.co.th/content/238138
02 ม.ค. 2565
Uber เตรียมเปิดเที่ยวบินราคา 200 ดอลลาร์ที่นิวยอร์ก
Uber เตรียมเปิดเที่ยวบินราคา 200 ดอลลาร์ที่นิวยอร์ก
Uber เตรียมเปิดเที่ยวบินสำหรับคนในเมือง เริ่มต้นที่เส้นทางจาก Lower Manhattan ไปยัง Kennedy Airport แท็กซี่บินอัตโนมัติของ Uber ยังไม่พร้อมที่จะเปิดใช้งาน แต่มีรายงานจาก New York Times ว่าจะเริ่มมีการขนส่งทางอากาศตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม โดยจะเริ่มต้นให้บริการด้วย Uber Copter ซึ่งจะให้บริการในเมืองนิวยอร์กก่อน และเป็นสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก Uber Rewards ที่ได้รับสถานะ Platinum และ Diamond เท่านั้น โดยจะมีราคาค่าบริการอยู่ระหว่าง 200-225 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามบริการนี้จะแตกต่างจากบริการรถของ Uber เพราะมีการกำหนดเส้นทางเอาไว้ล่วงหน้าและตายตัว โดยเป็นเส้นทางระหว่างสถานที่ใกล้กับ Staten Island Ferry ในแมนฮัตตัน ไปยังสนามบิน Kennedy ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 8 นาที Uber ยังไม่ได้ประกาศว่าจะทำการให้บริการนี้แก่สาธารณชน ส่วนจำนวนของผู้โดยสารที่จะเดินทางไปกับ Uber Copter อยู่ที่ 5 คนต่อเที่ยว โดยมีนักบินจำนวน 2 คนประจำอยู่บนเครื่อง ที่มา : www.smartsme.co.th
01 ม.ค. 2565
Netflix เติบโตขึ้นมาด้วยวัฒนธรรมองค์กร “กล้าลองในสิ่งที่ผิดพลาด”
Netflix เติบโตขึ้นมาด้วยวัฒนธรรมองค์กร “กล้าลองในสิ่งที่ผิดพลาด”
กว่าจะมาเป็นธุรกิจระดับโลกอย่างทุกวันนี้ Netflix ได้ผ่านการลองผิดลองถูกมาจำนวนนับไม่ถ้วน ใช้เวลาตั้งแต่ทำการเริ่มต้นทดสอบทางความคิดมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ต้องเจอกับอะไรมาบ้าง Mitch Lowe Co-founding Executive ของ Netflix จะมาเล่าให้ฟัง ย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นที่ Netflix พยายามหาหนทางแก้ไข Pain Point ของผู้บริโภค ในการทำให้การรับชมภาพยนตร์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และเชื่อว่าความบันเทิงกำลังจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ขีดจำกัดของการรับชมนั้นถูกขยายออกไปสู่อุปกรณ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบพกพา หรือแม้แต่ดูในโทรศัพท์มือถืออย่างทุกวันนี้ ผ่านการลองผิดลองถูกมานาน จนถึงวันที่ Netflix สามารถ Launched Streaming ได้เป็นครั้งแรกในปี 2008 ซึ่งหลังจากนั้น Netflix ยังคงพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรับชมอย่างต่อเนื่องแบบไม่สะดุด และสามารถเลือกรับชมตอนต่อไปได้ในทันที ถือเป็นความแตกต่างที่สร้างคุณค่าและได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมที่เข้าชมผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลายในทั่วทุกมุมโลก ปัจจุบัน Netflix มีผู้ติดตามอยู่ใน 130 ประเทศทั่วโลก กุญแจสู่ความสำเร็จของ Netflix มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน บุคลากร (People) เป็นทรัพยากรที่สำคัญ จะต้องเป็นผู้ที่ทำการหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อจะเป็นหนทางในการเพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง วัฒนธรรม (Culture) ที่จะส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ ซึ่งเกิดจากความชัดเจนในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายขององค์กร บุคลากรจะมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน ความเป็นผู้นำ (Leadership) กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ แล้วยังฝากข้อคิดเท่ๆ เอาไว้ปิดท้ายด้วยว่า "อย่ากลัวที่จะตัดสินใจผิด เพราะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในการสร้างนวัตกรรม คือการทำผิด" คนเราไม่มีทางที่จะทำอะไรผิดหมด เราจะต้องลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น องค์กร จะต้องสร้างวัฒนธรรมที่ให้คนกล้าลองทำในสิ่งที่ผิดพลาดได้ ที่มา : www.smartsme.co.th
31 ธ.ค. 2564
ครั้งแรกของการเปิดพื้นที่ Coworking สำหรับอาหาร
ครั้งแรกของการเปิดพื้นที่ Coworking สำหรับอาหาร
เราคงคุ้นเคยกับ coworking ในรูปแบบต่างๆ กันมาแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นที่ของการร่วมทำงาน ร่วมทำการศึกษา หรือเป็นพื้นที่ของบรรดาเหล่าสตาร์ทอัพทั้งหลายไปรวมตัวกัน แต่ใครจะไปคิดละว่าพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพด้านอาหารก็มีกับเขาด้วย และงานนี้ก็เป็นขาใหญ่ของวงการ coworking เข้ามาทำเองซะด้วย แหล่งรวมตัวของคนพัฒนาด้านอาหารเกิดขึ้นแล้ว งานนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน WeWork เจ้าพ่อวงการ coworking space นั่นเอง หลังจากที่ทำการยึดตลาดในกลุ่มต่างๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น WeWork พื้นที่ทำงานของคนรุ่นใหม่ WeLive พื้นที่อยู่อาศัย และ WeGrow พื้นที่ของการศึกษา ตอนนี้พร้อมสร้างสิ่งแวดล้อมสำหรับสตาร์ทอัพด้านอาหาร ด้วยการเปิดตัว WeWork Food Labs WeWork Food Labs เป็น coworking space และศูนย์นวัตกรรมการทดลองในห้องอาหาร พื้นที่ Food Labs ในนครนิวยอร์กได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำงานด้านอาหาร มีพื้นที่สำหรับการวิจัยพัฒนา ตู้เก็บอาหาร และพื้นที่จัดกิจกรรมขนาดใหญ่ นี่คือหนึ่งในพื้นที่ที่น่าสนใจที่สุดของนวัตกรรมในโลกปัจจุบันด้านอาหาร และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ซ้ำใครเพื่อสนับสนุนอาหารและการเกษตรยุคใหม่ที่เริ่มต้นขึ้น เชื่อว่าการสร้างพื้นที่นี้จะทำให้นักประดิษฐ์มีแรงบันดาลใจมากที่สุด พวกเขาสามารถสร้างชื่อเสียงให้โลกได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เราคิดค้นอนาคตของเราเอง แน่นอนว่าสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินสนับสนุนในการลงทุนด้วย ที่มา : www.smartsme.co.th
30 ธ.ค. 2564
สตาร์ทอัพเลบานอน ไอเดียสุดเฉียบคิดค้นไฟแช็กช่วยคนเลิกสูบบุหรี่
สตาร์ทอัพเลบานอน ไอเดียสุดเฉียบคิดค้นไฟแช็กช่วยคนเลิกสูบบุหรี่
สำหรับคนที่ต้องการตัวช่วยสำหรับการเลิกบุหรี่ น่าจะถูกใจกับเครื่องมือนี้อย่างแน่นอน เพราะนี่คือตัวช่วยสำหรับการวางแผนในการลดไปจนถึงเลิกสูบกันเลยทีเดียว ใครจะไปเชื่อว่าไฟแช็กจะกลายมาเป็นตัวช่วยในการเลิกสูบ งานนี้มีแอปฯ และบลูทูธเป็นหัวใจหลัก สตาร์อัพของเลบานอน หวังแก้ไขปัญหาของคนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ ด้วยการโฟกัสไปที่อุปกรณ์ช่วยในการจุดไฟให้กับบุหรี่ ซึ่งก็คือไฟแช็กนั่นเอง งานนี้ไม่ธรรมดาเพราะมันคือไฟแซ็กที่สามารถจดจำจำนวนการจุด เวลาที่ทำการจุด แล้วส่งข้อมูลไปยังแอปพลิเคชั่น เพื่อทำการออกแบบเวลาในการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้งานแต่ละคน “Slighter” คือชื่อของไฟแช๊กรุ่นใหม่นี้ จากข้อมูลที่ปล่อยให้เจ้าของใช้ไปเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก็จะถูกส่งผ่านบลูทูธไปยังแอปฯ บนมือถือ เพื่อทำการออกแบบเวลาเปิดปิดของไฟแช็คที่เหมาะสม หากไม่อยู่ในช่วงเวลาของการใช้งานมันจะจุดไม่ติด ต้องรอจนถึงรอบการสูบครั้งต่อไปถึงจะทำการจุดไฟได้ ซึ่งหน้าจอแสดงผลการนับถอยหลังการจุดครั้งต่อไปเอาไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามมันมาพร้อมกับปุ่มโกง เพื่อให้สามารถทำการจุดไฟได้ทันทีที่ต้องการ เพราะถ้าหากไม่มีปุ่มนี้บรรดานักสูบก็จะเปลี่ยนกลับไปใช้ไฟแช็กธรรมดาแทน ที่มา : www.smartsme.co.th
29 ธ.ค. 2564
สยามคาร์ดีล สตาร์ทอัพค้นหารถใหม่ป้ายแดง
สยามคาร์ดีล สตาร์ทอัพค้นหารถใหม่ป้ายแดง
สยามคาร์ดีลดอทคอม เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการค้นหาโปรโมชั่นรถใหม่ป้ายแดง ที่ช่วยให้การเลือกซื้อรถใหม่ สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น ปี 2561 ที่ผ่านมา สยามคาร์ดีลช่วยโชว์รูมรถที่เป็นพันธมิตรทั่วประเทศ ขายรถไปมากกว่า 3,000 คัน Siamcardeal.com เปิดตัวปี 2559 โดยมีการตั้งเป้าหมายเป็นแพลตฟอร์มเพื่อค้นหาโปรโมชั่นสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อรถใหม่ป้ายแดง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในขณะนั้น ทำให้ได้รับการตอบรับจากทั้งผู้บริโภคและดีลเลอร์เป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาช่วยให้ผู้บริโภคได้รถใหม่ในราคาที่ถูกใจ ส่วนดีลเลอร์หรือโชว์รูมก็ได้ยอดขายเพิ่มขึ้น สยามคาร์ดีลทำงานกับโชว์รูมรถยนต์ทั่วประเทศมากกว่า 100 แห่ง มีข้อเสนอและโปรโมชั่นมากกว่า 1,000 รายการ ให้ผู้บริโภคได้เลือกและตัดสินใจ เมื่อมีลูกค้าแสดงความจำนงมาที่เว็บไซต์ สยามคาร์ดีล จะจัดส่งรายชื่อลูกค้าที่มีคุณภาพให้กับโชว์รูมแบบเรียลไทม์ ด้วยระบบ LMS (Leads Management System) ทำให้โชว์รูมบริหารจัดการรายชื่อลูกค้าได้อย่างสะดวก ติดตามลูกค้าได้ง่าย จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์ ทำให้รู้ว่าระบบแบบเรียลไทม์ คือ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสำเร็จ และช่วยเพิ่มยอดขายได้จริง ซึ่งปัจจุบัน ระบบ LMS ถูกใช้งานแล้วอย่างกว้างขวาง ทั้งโชว์รูมในไทย และโชว์รูมรถยนต์ในกลุ่มประเทศ CLMV สยามคาร์ดีลมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักลงทุนเริ่มมองเห็นศักยภาพในการเติบโตและขยายธุรกิจ ทำให้สยามคาร์ดีลได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ล่าสุดได้รับเงินลงทุนจากกองทุน 500 TukTuks และนักลงทุนส่วนตัว (Angel Investor) กว่า 10 ล้านบาท ที่มา : www.smartsme.co.th
28 ธ.ค. 2564
สตาร์ทอัพ Agritech ของอินเดีย จับผลไม้ลงกล่องทำของว่างในนาม Fruit Box & Co
สตาร์ทอัพ Agritech ของอินเดีย จับผลไม้ลงกล่องทำของว่างในนาม Fruit Box & Co
สตาร์ทอัพกลุ่มเทคโนโลยีการเกษตรของอินเดีย ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพ ด้วยการจัดผลไม้ลงกล่องทำเป็นของว่างแล้วจัดส่งตามสำนักงานและโรงเรียน หวังให้คนอินเดียมีสุขภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพชื่อ Fruit Box & Co มาจากความกังวลเรื่องของสุขภาพของคนทำงานในออฟฟิศ ที่ส่วนใหญ่เวลาหิวมักจะมองหาแต่อาหารที่ประกอบไปด้วยแป้งและน้ำตาล เพราะสามารถเลือกโทรสั่งได้จากผู้ให้บริการส่งอาหารที่มีให้เลือกมากมาย นอกจากนั้นยังมองเห็นว่ายังไม่มีใครทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งผลไม้ให้กับคนทั่วไป จึงเกิดไอเดียที่จะทำการให้บริการจัดผลไม้ลงกล่องพร้อมเสิร์ฟสำหรับบรรดามนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในสำนักงาน นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Fruit Box & Co สตาร์ทอัพรายนี้เปิดตัวในปี 2561 เริ่มจาการจัดหาผลไม้สดหลากหลายชนิดจากทั่วอินเดียและทั่วโลก เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าทั้งที่เป็นแบบ B2B และ B2C ในอินเดีย ด้วยเงินลงทุน 10 ล้านรูปี ผลไม้ที่ถูกจัดลงในกล่องเป็นผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรผู้ค้าส่ง ผู้นำเข้า และคู่ค้าที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าสินค้ามีคุณภาพ พวกเขาทำการเชื่อมต่อเครือข่ายกับเกษตรกรมากกว่า 500 ราย ผลไม้ที่รับเข้ามาจะถูกเก็บไว้ในห้องเย็น และมีระบบคอยทำการตรวจเช็คเรื่องของสินค้าคงคลัง นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่อาจจะไม่มีความต้องการด้านเทคนิคชั้นสูงแต่อย่างใด ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความต้องการในการแก้ไขปัญหาและความตั้งใจล้วนๆ ที่มา : www.smartsme.co.th
27 ธ.ค. 2564
แบตเตอรี่ของ Tesla ช่วยรักษาเศรษฐกิจของซิมบับเว
แบตเตอรี่ของ Tesla ช่วยรักษาเศรษฐกิจของซิมบับเว
ท่ามกลางสถานการณ์กระแสไฟฟ้าดับยาวนานถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน Econet Wireless Ltd. ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของซิมบับเวได้หันมาพึ่งพา บริษัทด้านพลังงานที่สามารถเก็บรักษาได้เอาไว้ในแบตเตอรี่ เพราะหากปล่อยให้ไฟฟ้าดับมันจะกระทบถึงการทำธุรกรมทางการเงินทั้งหมดของประเทศ ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล การสื่อสารโทรคมนาคมคือส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ หากเครือข่ายโทรคมนาคมไม่ทำงานในซิมบับเว ผู้คนก็จะไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ ได้เลย การติดตั้งแบตเตอรี่ Powerwall ซึ่งเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดที่ Tesla ได้เข้าร่วม ทำให้ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าไปได้ รูปแบบของความสำเร็จนี้กำลังถูกขยายออกไปยัง แซมเบียและคองโก สถานีฐานในซิมบับเวแบบเดิมใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบดีเซล แต่เรื่องของเชื้อเพลิงก็มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอยู่เหมือนกัน คำตอบจึงมาอยู่ที่การใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ โดยทำการผลิตกระแสไฟฟ้าในเวลากลางวัน และทำการเก็บเอาไว้ในแบตเตอรี่เพื่อนำไปใช้ในเวลากลางคืน ซึ่งมันจะสามารถจ่ายพลังงานให้สถานีได้ต่อเนื่องถึง 10 ชั่วโมง เทสลาทำงานร่วมกับบริษัทโทรคมนาคมหลายแห่งทั่วโลก และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการรวมกันของแผงโซลาร์เซลล์และที่เก็บแบตเตอรี่ นี่เป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มา : www.smartsme.co.th
26 ธ.ค. 2564
Caper รถเข็นอัจฉริยะสำหรับร้านค้าปลีก
Caper รถเข็นอัจฉริยะสำหรับร้านค้าปลีก
Caper สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ต้องการแก้ปัญหาในเรื่องของการคิดเงินจากการซื้อของในร้านค้าปลีก งานนี้ระบบไม่ซับซ้อนขนาดต้องเช็คราคาสินค้าตลอดเวลา ไม่ต้องเสียเวลาวุ่นวายกับการต้องรอคิวในพื้นที่สำหรับการจ่ายเงิน ทุกอย่างถูกยกรวมเอาไปไว้ในรถเข็นแทน นี่ถือเป็นอีกทางออกของร้านค้าปลีกที่ไม่ต้องการลงทุนระบบใหญ่โตอย่าง AI ที่มาพร้อมกล้องเป็นร้อยๆ ตัวเพื่อทำการเช็คราคาสินค้าและจำนวนสินค้าที่มีลูกค้าหยิบออกไปจากชั้นวางของ แน่นอนว่ามันทำให้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านเทคโนโลยีลดลงไปถึง 1 ใน 10 เลยทีเดียว ทุกกิจกรรมของการเลือกซื้อสินค้าจะถูกย้ายมาอยู่ที่รถเข็นทั้งหมด ทำให้ง่ายต่อการเช็คราคาสินค้าด้วยกล้องและเซนเซอร์ในรถเข็น คุณสามารถเช็คราคาสินค้าได้โดยตรงด้วยการหยิบสินค้าลงไปในรถเข็น ระบบจะทำการแสดงราคาและยอดรวมของสินค้าที่อยู่ในรถเข็นให้เอง แน่นอนเมื่อคุณเปลี่ยนใจหยิบสินค้าออกรถเข็นก็จะทำการคำนวณราคาสินค้าใหม่ให้เอง ด้วยเทคโนโลยีนี้สามารถช่วยกลุ่มร้านค้าปลีกสามารถทำการเช็คเอาท์ได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ส่วนรายละเอียดหรือการต่อยอดอื่นๆ สามารถทำเพิ่มเติมผ่านทางหน้าจอที่ติดอยู่กับรถเข็น แบบนี้ก็สะดวกดีเหมือนกัน ที่มา : www.smartsme.co.th
25 ธ.ค. 2564