โทรศัพท์ 1358
การค้นหาขั้นสูง

หมวดหมู่
จีนทำสำเร็จสร้างเรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะลำแรกของโลก คาดให้ผลผลิตปลาคุณภาพดี 3,700 ตันต่อปี
เรือเพาะเลี้ยงปลาอัจฉริยะขนาด 100,000 ตัน ลำแรกของจีนถูกสร้างเสร็จหลังใช้เวลาเกือบ 400 วัน และประกาศเปิดตัวในเมืองทางตะวันออกของชิงเต่า ตามรายงานของ China Science Daily ระบุว่าเรือดังกล่าวถูกเรียกว่า Conson No 1 มีขนาดความยาว 249.9 เมตร และกว้าง 45 เมตร โดยถูกออกแบบมาเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะ สามารถระบายน้ำได้ 130,000 ตัน เลี้ยงปลาได้ 15 กระชัง พร้อมทั้งมีพื้นที่เลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ระดับไฮเอนด์ ปริมาณ 80,000 ลูกบาศก์เมตร และคาดการณ์ว่าจะให้ผลผลิต 3,700 ตันต่อปี นอกจากนี้ ความหนาแน่นของการผสมพันธุ์ปลาในถังสูงกว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิมถึง 4-6 เท่า และวงจรการแพร่พันธุ์สั้นลงมากกว่า 1 ใน 4 การก่อสร้างเรือเริ่มต้นในเดือนธันวาคม 2020 โดย Qingdao Conson Development Group ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนในโครงการก่อสร้าง และได้รับการพัฒนาร่วมกันกับบริษัทต่อเรือรายใหญ่ของจีน และสถาบันวิจัย ด้าน Chen Zhixin หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยเครื่องจักรและเครื่องมือประมงภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์การประมงของจีน กล่าวว่าการว่าจ้างเรือจะช่วยผลักดันพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากทะเลน้ำลึก โดยใช้แหล่งน้ำทะเลคุณภาพสูงในการเพาะพันธุ์ “เราสามารถมีแหล่งโปรตีนจากทะเลที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ และสร้างเป็นอาหารเสริมที่สำคัญ” Chen Zhixin d]jk; ที่มา: chinadaily, Xinhua, www.smartsme.co.th/content/247077
06 พ.ค. 2565
ผู้นำอินโดฯ พูดคุยกับอีลอน มัสก์ เปิดทางเข้ามาลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า-ทรัพยากรธรรมชาติ
กลายเป็นภาพที่ถูกพูดถึงผ่านสื่อสังคมออนไลน์เมื่อ โจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้นั่งพูดคุยกับ อีลอน มัสก์ นักธุรกิจชื่อดังเจ้าของ Tesla จนเกิดการตีความตามมาว่าจะเกิดดีลสำคัญขึ้นในอนาคตหรือไม่ การพบกันของทั้งสองคนเกิดขึ้นหลังการอภิปรายระดับงานเกี่ยวกับการลงทุนที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมนิกเกิลของอินโดนีเซีย และการจัดหาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า สอดคล้องกับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนจาก Tesla ในอินโดนีเซีย ได้มีการพูดคุยถึงศักยภาพการลงทุนเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่เรื่องนี้ยังไม่มีคำเสนอแนะออกมาจากฝั่ง Tesla แต่อย่างใด ในช่วงที่ผ่านมา อินโดนีเซียพยายามเจรจากับ Tesla เกี่ยวกับการลงทุนแบตเตอรี่ และศักยภาพของบริษัท SpaceX อีกหนึ่งธุรกิจของมัสก์ ด้านโจโก วีโดโด เดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนกับโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยการพบกับมัสก์เกิดขึ้นที่ไซต์เปิดตัว SpaceX ใน Boca Chica,Texas และได้มีคำเชิญมหาเศรษฐีรายนี้เดินทางมาอินโดนีเซียในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งวีโดโดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 ที่บาหลี อินโดนีเซียยังมีที่ว่างให้กับมัสก์กับการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในหลาย ๆ ด้าน เพราะอินโดนีเซียมีศักยภาพมากมาย ทั้งในเรื่องของนิกเกลสำรองที่ใหญ่สุดของโลก และวีโดโดมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม EV ที่ใช้นิกเกิลผลิตส่วนประกอบแบตเตอรี่ และประกอบรถยนต์ไฟฟ้า โดยที่ผ่านมาวีโดโดเรียกร้องให้มัสก์พิจารณาเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย ข้อเสนอในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานำมาสู่โมเมนตัมใหม่ที่ทำให้วีโดโดผลักดันพัฒนาอุตสาหกรรม EV ในช่วงเวลาที่ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกกำลังดิ้นรนเพื่อจัดหาวัสดุผลิตแบตเตอรี่ และการพึ่งพาจากจีน โดย LG Energy ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV อันดับ 2 ของโลก ประกาศแผนลงทุน 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอินโดนีเซีย เมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งของข้อตกลงรวมทุกอย่างตั้งแต่การกลั่นนิกเกิลไปจนถึงการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในอินโดนีเซีย ที่มา: FB Joko Widodo, businesstoday, https://www.smartsme.co.th/content/247004
05 พ.ค. 2565
พนักงาน Apple เลือกลาออกแทนที่จะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ เพราะมองว่าทำให้สูญเสียความปลอดภัย
เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะ Work Form Home เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ และสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงาน อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่ทุกอย่างต้องเดินต่อไปทำให้ตอนนี้บริษัทต่าง ๆ เริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ เช่นเดียวกับ Apple บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่เริ่มให้พนักงานกลับมาทำงาน 3 วันต่อสัปดาห์ แต่การกลับมาครั้งนี้กลับพบเรื่องราวที่ไม่เหมือนเดิมเมื่อพบการลาออกของพนักงานเพิ่มมากขึ้น เรื่องนี้เกิดขึ้นจากอะไรเรามาหาคำตอบกัน กลุ่มพนักงานระดับสูงของ Apple เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงบริษัทเรื่องประกาศลาออกในเดือนเมษายน หลังรู้ว่าพวกเขาต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ โดยหนึ่งในคนที่ยื่นใบลาออก คือ Ian Goodfellow ผู้อำนวยการด้านการเรียนรู้ ที่ตัดสินใจบอกลา Apple เหตุผลที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ขอลาออก เพราะไม่เห็นด้วยที่ต้องถูกบังคับให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศ เนื่องจากมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย, สุขภาพกาย, สุขภาพจิต และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่าการทำงานจากออฟฟิศจะเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว หลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกันไปหมด Goodfellow เขียนบันทึกถึงเจ้าหน้าที่ว่า ตนเชื่ออย่างยิ่งว่าความยืดหยุ่นที่มากขึ้นจะเป็นนโยบายที่ดีสำหรับทีม การที่ทุกคนได้ทำงานจากระยะไกลมันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า ซึ่งบันทึกฉบับนี้เป็นข้อเรียกร้องของ Goodfellow ที่ได้รับลายเซ็นยืนยันจากพนักงานมากกว่า 1,000 คน แต่ไม่ได้มีการระบุว่าเป็นพนักงานปัจจุบัน หรืออดีตของบริษัท อาจจะกล่าวได้ว่าการทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะราคาที่พักอาศัยในซิลิคอนวัลเลย์พุ่งสูงขึ้น, ผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น และการขาดการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และนโยบายความเป็นส่วนตัวต่อการเติบโตขึ้นในรัฐฯ ที่มีศูนย์กลางเทคโนโลยีตั้งอยู่ รวมถึงปัญหาในเรื่องของแรงงานที่หมดไฟกับการทำงาน ที่มา: https://futurism.com/the-byte/apple-workers-quit-dont-return-office-pandemic https://www.smartsme.co.th/content/247002
04 พ.ค. 2565
พลิกวิกฤตเป็นโอกาส! PriceLOCQ สตาร์ทอัพฟิลิปปินส์เปิดขายน้ำมันล่วงหน้า ช่วยลูกค้าได้น้ำมันราคาถูก
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าราคาพลังงาน โดยเฉพาะ “น้ำมัน” ทะยานพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ยานพาหนะที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ เงินในกระเป๋าสตางค์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มันจะดีกว่านี้หรือไม่ หากสามารถจัดการซื้อน้ำมันล่วงหน้าได้ในราคาถูก แบบไม่ต้องมานั่งกังวลว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น แล้วต้องซื้อในราคานั้น เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อสตาร์ทอัพชื่อว่า PriceLOCQ ที่คิดค้นไอเดียให้ลูกค้าซื้อน้ำมันล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน สำหรับ PriceLOCQ เป็นแอปพลิเคชันถูกพัฒนาโดย Mark Yu ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารของ Seaoil ผู้ให้บริการสถานีน้ำมันในฟิลิปปินส์ โดยแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถซื้อเชื้อพลิงได้เมื่อพวกเขาต้องการ แม้ช่วงแรกของการทำธุรกิจจะไม่ได้จะไม่ได้ให้มีการสั่งซื้อน้ำมันล่วงหน้าได้ก็ตาม แต่ YU ได้สร้างแนวคิดเกี่ยวกับโทเค็นดิจิทัลโดยอิงจากน้ำมัน เนื่องจากบล็อกเชนกำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในฟิลิปปินส์ แนวคิดนี้จึงทำให้โทเค็นนำมันถูกพัฒนาเพื่อมอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง และธุรกิจต้องการส่งเสริมให้ผู้คนมีส่วนร่วมในตลาดพลังงาน มาวันนี้ PriceLOCQ มีส่วนสำคัญในชีวิตผู้คนฟิลิปปินส์เป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน เช่นเดียวกับอุปทานด้านเชื้อเพลิงที่ต่ำสุดในตลาดโลก ทำให้ PriceLOCQ กลายเป็นทางเลือกของคนฟิลิปปินส์ Yu อธิบายว่า PriceLOCQ จะใช้แนวคิดการป้องกัยความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงให้กับผู้บริโภค โดยสามารถซื้อเชื้อเพลิงล่วงหน้าได้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวน และต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดน้ำมัน อย่างไรก็ตาม PriceLOCQ อนุญาตให้ผู้ใช้ซื้อน้ำมันผ่านแอปฯ ล่วงหน้าสูงสุดไม่เกิน 600 ลิตร ทั้งเบนซิน และดีเซล ผ่านสถานีบริการน้ำมัน Seaoil ผ่าน 300 สาขาทั่วประเทศฟิลิปปินส์ ที่มา: https://www.smartsme.co.th/content/246995
03 พ.ค. 2565
Warren Buffett : ผมไม่เคยเชื่อบิตคอยน์ ต่อให้เอาเหรียญทั้งโลกมากองขายราคา 25 ดอลลาร์ ก็ไม่ซื้อ
ดูเหมือนว่าสถานการณ์การลงทุนสกุลเงินดิจิทัลคริปโตฯ เกิดความผันผวนทางด้านราคาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเหรียญที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างบิตคอยน์ที่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 27,155.93 ดอลลาร์/BTC ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 2 ปี และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าราคาบิตคอยน์จะพุ่งกลับมาเหมือนปกติ หรือจะร่วงลงไปอีก แม้ที่ผ่านมา “บิตคอยน์” จะเป็นการลงทุนแบบใหม่ที่ถูกโปรโมทจนดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาลงทุน พร้อมทั้งถูกคาดหวังว่าจะเป็นการลงทุนแห่งอนาคตที่เข้ามาแทนที่การลงทุนแบบเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อเราย้อนดูคำพูดของ “พ่อมดการเงิน” Warren Buffett จะพบว่าเจ้าตัวไม่เคยเชื่อมั่นในบิตคอยน์เลย เพราะมองว่าไม่สามารถสร้างรายได้ได้ และไม่มีความคิดที่จะลงทุน ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ Warren Buffett กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทในวันที่ 30 เมษายน 2022 ซึ่ง ณ ขณะนั้น คริปโตฯ กำลังขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบิตคอยน์ แต่ Buffett มองว่าบิตคอยน์ไม่ได้มีค่าอะไรเลย เพราะไม่สามารถสร้างผลผลิต เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีประสิทธิผล จับต้องไม่ได้ “หากนำบิตคอยน์ทั้งหมดของโลกมากองอยู่ตรงหน้า แล้วเสนอให้ในราคา 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผมก็ไม่คิดจะซื้อ แม้ต่อจากนี้อีก 5-10 ปี ราคาบิตคอยน์จะขึ้นหรือลง ผมค่อนข้างแน่ใจว่าจะไม่ได้ผลผลิตอะไรเลย” Buffett กล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนมองว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ และหวังว่าในอนาคตจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อถือครองในระยะเวลายาวนาน แต่การลงทุนคริปโตฯ มีอะไรซับซ้อนมากกว่านั้น ทั้งนี้ วลีเด็ดของ Buffett ที่มีต่อบิตคอยน์ คือ “บิตคอยน์เป็นเหมือนยาที่มีฤทธิ์แรงเป็นสองเท่า” ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นมุมมองเป็นอย่างดีเกี่ยวกับบิตคอยน์ ที่มา: businessinsider, cnbc, https://www.smartsme.co.th/content/246993
02 พ.ค. 2565
MG ปิดการรับจองรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รุ่น NEW MG EP PLUS
MG ปิดรับจองรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น NEW MG EP PLUS แบบ 100% หลังโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อการผลิต และการจัดส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำหนังสือชี้แจง ขอขอบคุณลูกค้าที่มั่นใจ และได้ทำการจองรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ด้วยกระแสตอบรับที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกจากนโยบายภาครัฐที่ให้การสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อการผลิต และการจัดส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถรองรับกับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นทางบริษัทฯ ได้พิจารณาถึงกำลังการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีอย่างจำกัด จึงมีความจำเป็นต้องขอหยุดรับการจองรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับรุ่น NEW MG EP PLUS โดยจะขอหยุดรับจองตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 23.59 น. บริษัทฯ ขอขอบพระคุณลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจ และให้การสนับสนุนบริษัทฯ และรถยนต์เอ็มจีเป็นอย่างดีมาโดยตลอด หากมีการเปลี่ยนแปลงบริษัทฯ จะแจ้งให้ทราบในโอกาสถัดไป ที่มา : https://www.smartsme.co.th/content/246989
01 พ.ค. 2565
SMEs ไทยมีแนวโน้มการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตาม
บีเอสเอชี้จุดอ่อนของ SMEs ไทยขาดทักษะการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ เสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในการรักษาความลับทางการค้าและข้อมูลสำคัญของธุรกิจ พันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) องค์กรที่รณรงค์ส่งเสริมการใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เผยว่า จากปี 2561 บีเอสเอยังคงสำรวจการใช้งานซอฟต์แวร์ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง พบกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังมีการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และใช้งานซอฟต์แวร์ไม่ถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ในขณะเดียวกันพบแนวโน้มการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพิ่มสูงขึ้นในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs นอกจากนั้นยังพบว่าองค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือใช้ไม่ถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management : SAM) หรือมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล และขาดการบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security) ทำให้องค์กรธุรกิจเหล่านี้มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อาจทำให้ความลับทางการค้าและข้อมูลสำคัญรั่วไหล คู่ค้าหรือนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจด้วย และอาจเลือกลงทุนกับองค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องในประเทศอื่นในอาเซียน บีเอสเอเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงได้อย่างรวดเร็ว คือความร่วมมือจากผู้บริหารองค์กรในการกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นอย่างถูกต้อง การเพิ่มทักษะของเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศในเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ในระดับสากล รวมถึงการนำเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบริหารองค์กร ที่มา : https://www.bsa.org/, https://www.smartsme.co.th/content/232638
30 เม.ย. 2565
อาชญากรไซเบอร์ใช้เรื่องไวรัสเมืองอู่ฮั่นทำการแพร่กระจายมัลแวร์
ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่เชื้อไวรัสจากเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่าไวรัสโคโรนาเป็นภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพระดับโลก หลายประเทศกำลังจำกัด การเดินทางของผู้คนจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ยิ่งเรากังวลเรื่องนี้มากเท่าไร อาชญากรไซเบอร์ก็รู้และคิดหาทางเล่นงานเราจากความกังวลในเรื่องนี้ แน่นอนพวกเขาเหล่านั้นต้องการแพร่กระจายมัลแวร์เพื่อหวังผลในการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งจะเป็นการส่งไฟล์ที่เกี่ยวข้องกับ coronavirus ในรูปแบบของ PDF, MP4 และ DOC ที่มักจะบอกว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวข้องกับวิธีการป้องกันตัวจากไวรัส และข้อมูลล่าสุดของการแพร่กระจาย เมื่อผู้ได้รับทำการเปิดไฟล์เหล่านี้ก็จะเป็นการทำให้มัลแวร์แพร่กระจายเข้าไปในเครืองคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายของบริษัทได้ มีการคาดการณ์ว่าจำนวนไฟล์ที่เป็นอันตรายจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นบริษัทต่าง ๆ ควรทำการแจ้งเตือนพนักงานของพวกเขาให้ระวังอีเมลหรือลิงก์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ coronavirus และควรแนะนำให้ทำการหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการจะปลอดภัยกว่า ที่มา : https://www.natlawreview.com/article/cyber-criminals-using-coronavirus-concern-to-assist-intrusions https://www.smartsme.co.th/content/232684
29 เม.ย. 2565
หุ่นยนต์บาร์เทนเดอร์เริ่มทำงานแล้วที่ผับแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว
หุ่นยนต์บาร์เทนเดอร์ตัวแรกของญี่ปุ่น เริ่มให้บริการชงเครื่องดื่มให้กับลูกค้าในผับของกรุงโตเกียว นี่เป็นก้าวแรกของการทดสอบการนำเอาระบบอัตโนมัติมาทำงานแทนคนในร้านเครื่องดื่ม เพื่อต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและสังคมผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ที่ผลิตโดย บริษัท QBIT Robotics เข้าประจำการทำหน้าที่เป็นบาร์เทนเดอร์ ในร้านโยโรโนะตากิ มันสามารถเทเบียร์หนึ่งแก้วเสร็จในเวลา 40 วินาที และทำการผสมค็อกเทลเสร็จใน 1 นาที นอกจากนี้ระหว่างที่ทำการเทและชงเครื่องดื่ม ยังสามารถทักทายและพูดคุยกับลูกค้าผ่านทางหน้าจอของแท็บเล็ตได้อีกด้วย นี่เป็นอีกหนึ่งทางออกในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะได้ลดข้อ จำกัดของการขอวีซ่าเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติแล้วก็ตาม ธุรกิจต่าง ๆ ก็ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอยู่ดี เนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลงและจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด การทดลองหุ่นยนต์บาร์เทนเดอร์นี้จะใช้เวลาในการทดสอบ 2 เดือน ก่อนที่จะทำการประเมินผล อาจจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องความเร็วในการเทและชงเครื่องดื่มเพิ่มเติม รวมถึงหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่ในการติดตั้งหุ่นยนต์ เพราะพื้นที่ในร้านดูเหมือนจะเล็กเกินไปสำหรับหุ่นยนต์ ส่วนเรื่องของราคานั้นอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านเยน หรือเทียบเป็นเงินเดือนที่ใช้จ้างบาร์เทนเดอร์ที่เป็นคนในระยะเวลา 3 ปี ที่มา : https://japantoday.com/category/tech/Robot-bartender-starts-work-at-Tokyo-pub https://www.smartsme.co.th/content/232770
28 เม.ย. 2565
AI and Happiness โซลูชั่นช่วยเพิ่มความสุขให้กับพนักงาน
ฮิตาชิเผยโฉม AI and Happiness โซลูชั่นช่วยเพิ่มความสุขให้กับพนักงานในองค์กร โดยใช้การเก็บข้อมูลส่วนตัวของพนักงานไปทำการวิเคราะห์เพื่อสร้างความสุขให้เพิ่มขึ้น การให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงานของชาวญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่มีการทำมาตลอด เพราะนั่นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ญี่ปุ่นเกิดการเติบโตในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะหลังนี้หลาย ๆ หน่วยงานต่างก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับความสุขของพนักงานมากขึ้น จึงมีการคิดค้นนวัตกรรมต่างที่จะช่วยลดความเครียดในการทำงานให้กับพนักงานมากขึ้น บนความเชื่อที่ว่าความเครียดจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง ฮิตาชิ จึงได้เริ่มค้นคว้าโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาความเครียดให้กับพนักงาน โดยการนำเอาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาปรับใช้ในองค์กร โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลของความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการทำงานกับคุณภาพของงาน ผ่านอุปกรณ์สวมใส่อย่างป้ายพนักงานและสายรัดข้อมือ ซึ่งภายในอุปกรณ์เหล่านั้นจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว, อัตราการเต้นของหัวใจ หรือแม้กระทั่งการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูก AI ทำการวิเคราะเพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างความสุขของพนักงาน และประสิทธิภาพในการทำงานตลอดจนคุณภาพของที่ได้ หากพบว่าพนักงานคนใดมีความเครียดมากเกินไป ก็จะมีคำแนะนำให้พนักงานเหล่านั้นทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด ในอนาคตทางฮิตาชิตั้งใจที่จะพัฒนา AI มาปรับใช้กับองค์กร เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน บนพื้นฐานของการลดความเครียดและเพิ่มความสุขให้กับพนักงานในองค์กรได้ ที่มา : https://social-innovation.hitachi/en-us/think-ahead/manufacturing/ai-for-happy-workforce https://www.smartsme.co.th/content/232814
27 เม.ย. 2565